โบท็อกซ์ คืออะไร
"โบท็อกซ์" (Botox) เป็นชื่อทางการค้าของสาร โบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin A) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่สร้างจาก แบคทีเรีย ชื่อ คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแก่มนุษย์ หากได้รับในปริมาณมากๆ เช่น จากอาหารกระป๋องที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อตัวนี้ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จากการที่กล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ผู้ป่วยจึงหยุดหายใจ
โบทูลินั่มท็อกซิน ออกฤทธิ์อย่างไร
โบทูลินั่มท็อกซิน ออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาท ไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทได้ กล้ามเนื้อจึงคลายตัว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อเล็กๆนั้น โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 วัน และเห็นผลสูงสุดในเวลาประมาณ 7– 14 วัน
แล้วแพทย์เอา "สารพิษ" นี้มาใช้ทำไม
แพทย์ทราบมานานหลายสิบปีแล้วว่าหากฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อในปริมาณน้อยๆ โบทูลินั่มท็อกซินจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ดังนั้นในยุคแรกๆ จักษุแพทย์จึงนำโบทูลินั่มท็อกซิน มาฉีดรักษาโรคตาเหล่ ตาเข และโดยบังเอิญจากการฉีดรักษาในบริเวณรอบดวงตานี้เอง ก็ทำให้แพทย์พบว่าริ้วรอยบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากหว่างคิ้วและรอบดวงตาดีขึ้นด้วย
ในยุคต่อมาจึงมีการฉีด โบทูลินั่มท็อกซิน เพื่อประโยชน์ในด้านความสวยงามตามมาอย่างแพร่หลาย และมีเทคนิควิธีการที่ต่างๆ กันออกไป มีการนำมาฉีดเพื่อทำให้หน้าเรียวลง ยกกระชับผิวหนัง ลดเหงื่อบริเวณรักแร้ ฝ่ามือ ตลอดจนรักษาอาการปวดศีรษะ ปวดเกร็งต้นคอ และอีกหลายกรณี ในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีการฉีดกันเป็นล้านๆครั้ง ต่อปี
ผลของการฉีด โบทูลินั่มท็อกซิน อยู่นานเท่าใด
โดยทั่วไปผลของการฉีดจะอยู่ได้นานประมาณ 3-8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับว่าฉีดรักษาอาการอะไร ฉีดบริเวณใด ฉีดเป็นครั้งแรกหรือเป็นการฉีดซ้ำ ผู้รับการรักษาอายุเท่าใด ซึ่งการที่ผลการรักษาอยู่ไม่ถาวรนั้น ที่จริงอาจนับได้ว่าเป็นข้อดี เพราะหากผลที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ ในที่สุดก็จะค่อยๆ หายไปเองได้ ข้อเสียก็คือสิ้นเปลือง เพราะหากได้ผลดี ถูกใจก็ต้องฉีดซ้ำเรื่อยๆ
โบท็อกซ์ อันตรายหรือไม่
จากการรวบรวมผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด โบทูลินั่มท็อกซิน จำนวนมาก ในต่างประเทศ พบว่าไม่มีอันตรายถึงชีวิต เมื่อใช้โดยผู้เชี่ยวชาญและใช้ฉีดเพื่อความสวยงาม
ผลข้างเคียงส่วนมากที่เกิดขึ้นมักเป็นแบบเฉพาะที่ เช่น หนังตาตก กลืนอาหารลำบาก หน้าไม่สมมาตร หรือจุดเลือดออกในบริเวณที่ฉีด ซึ่งเกิดได้แม้ในมือผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแพทย์ และผู้ทำการรักษาจึงควรคุยกันโดยละเอียดก่อนการฉีดทุกครั้ง
เมื่อเกิดผลข้างเคียงแล้วจะทำอย่างไร
ดังที่ได้กล่าวแล้วตอนต้นว่าผลจากการฉีด โบทูลินั่มท็อกซิน นั้นจะค่อยๆ หมดไปเองภายในเวลาเป็นเดือน ดังนั้นผู้รับการรักษาจึงใจเย็นๆ และค่อยๆ รอให้ผลของ โบทูลินั่ม ท็อกซิน หมดไปเองก็ได้ ส่วนในกรณีที่เกิดหนังตาตกนั้น ผู้รับการรักษาควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นกรณีไป
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประวิตร อัศวานนท์
ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
เอกสารเผยแพร่ของแพทยสภา โดย
นอ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา