รู้ตัวอยู่เสมอ

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง”

ในมุฏฐัสสติสูตร กล่าวถึงประโยชน์ของสติไว้ว่า ทำให้คนหลับอย่างเป็นสุข ตื่นอยู่ก็เป็นสุข ไม่ฝันลามก เทวดารักษา น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุผู้มีสติคุ้มครองตนแล้วย่อมอยู่เย็นเป็นสุข”

พูดง่ายๆ ว่า มีสติเพียงอย่างเดียว สบายไปแปดอย่างว่างั้นเถอะ

พระสงฆ์องค์เจ้าโดยทั่วไปต่างเจริญสติกันทั้งนั้น อย่างหลวงปู่ดูลย์ อตุโลท่านก็เป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่ง ที่ฝึกตนด้วยสติและสอนให้ผู้อื่นใช้สติ

ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา หลวงปู่ดูลย์บอกให้เอาสติกำกับ ให้เป็นอยู่ด้วยสติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ให้รู้ตัวอยู่เสมอ รู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร นั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ การฝึกครั้งแรกค่อนข้างยากหน่อย ท่านบอกว่าเมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไปคิดในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเคร่งเครียดอะไรมาก ขอให้รู้ตัวเอาไว้

ภายหลังจิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ แล้ว เมื่อรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตน ในระหว่างที่จิตเที่ยวไปกับในระหว่างที่จิตมีความรู้ตัว ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

รู้ไว้ทำไม ­

ก็เพื่อเป็นอุบายสอนใจตนให้รู้จักจดจำ

ขณะที่จิตเที่ยวไปจุ้นจ้านอยู่ที่นั่นที่นี่ จิตจะไร้พลังประสบกับความกระวนกระวาย เหน็ดเหนื่อย เป็นทุกข์พอสมควร ขณะนั้นเราไม่รู้ตัว แต่ขณะที่จิตหยุดอยู่ เพราะมีสติวิ่งมานั้น จิตจะสงบ รู้ตัว เยือกเย็น สุขสบาย

ลองเปรียบเทียบขณะจิตทั้งสองเวลานั้น ก็จะรู้โทษของการแส่ไปตามอารมณ์กับคุณของการรู้ตัว แล้วจะเกิดความรู้สึกว่าอยากจะอยู่กับจิตชนิดไหน

แน่นอนที่สุด ใครๆ ก็อยากจะอยู่กับจิตที่มีสติ

ทุกครั้งที่จิตวิ่งไปข้างนอก ให้พยายามรู้ตัว แล้วค่อยๆ ดึงกลับมา ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป เผลอออกไปดึงกลับมา อย่างนี้เรื่อยไป เมื่อถึงจุดอิ่มตัว ก็จะกลับรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างเดิมอีก

หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า

เมื่อรู้ตัวแล้ว ก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป ด้วยอุบายอย่างนี้ไม่นานนักก็จะสามารถคุมจิตได้ และบรรลุธรรมในที่สุด โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตว่า คำที่นึกนั้นชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานของจิต

หลวงปู่ดูลย์ได้ให้ทางแก้ไว้ด้วยโดยใช้ “พุทโธ” จะเป็นคำอื่นก็ได้ แต่คำ “พุทโธ” ดีที่สุด

ฐานแห่งจิตจะอยู่ไม่คงที่ เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย แต่ว่าอยู่ในกายแน่นอน ไม่ต้องไปหานอกกาย

ท่านบอกว่าฐานแห่งจิตที่นึก “พุทโธ” ปรากฏชัดที่สุด ย่อมไม่มีอยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่

แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้นจะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

เมื่อกำหนดถูก และ “พุทโธ” ปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อยๆ อย่าให้ขาดสายได้ ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

เมื่อคุมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ให้ใช้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมนั่นแหละ

ต่อไปก็ดูว่า มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง อะไรเกิดขึ้นก็ช่าง ให้ละทิ้งให้หมด โดยละทิ้งทีละอย่าง อะไรเกิดก่อน ให้ละก่อน อะไรเกิดหลัง ให้ละทีหลัง แล้วเอาสติมาดูจิตต่อไป

กำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น และละอารมณ์นั้นๆ ให้หมด
กำหนดรู้และละไปเท่านั้น
นี่เป็นวิถีแห่งสมาธิของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

 

 

แหล่งข้อมูล:
หนังสือการทำสมาธิเรื่องการเจริญสมาธิด้วยการกำหนดรู้และละอารมณ์
โดย พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)