โรคไตคือโรคไม่ติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารรสเค็มและอาหาร ที่มีไขมันสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนที่ชอบกินขนมขบเคี้ยว (อุดมไปด้วยเกลือ) และอาหารจังค์ฟู้ด (เต็มไปด้วยไขมันเลว) จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคไตเพิ่มขึ้น ซึ่งบางคนกว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึงอันตรายของโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค (แต่เกิดจากพฤติกรรมการกิน) ชนิดนี้ โรคภัยใกล้ตัวมีข้อมูลในการสังเกตสัญญาณอันตรายของโรคไตมาฝาก
สังเกตอย่างไร ไตผิดปกติ
โดยทั่วไปร่างกายจะแสดงอาการผิดปกติออกมาก็ต่อเมื่อไตทำงานหนักมากแล้ว ซึ่งกว่าจะรู้ตัวและหาทางรักษาอาจสายเกินไป และอาการต่อไปนี้คือสัญญาณอันตรายที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณอาจเป็นโรคไต
อาการปัสสาวะผิดปกติ
เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะและไตทำงานสัมพันธ์กัน เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นที่ไต กระเพาะปัสสาวะจึงผิดปกติไปด้วย ซึ่งคุณหมอได้แนะวิธีสังเกตอาการผิดปกติของปัสสาวะไว้ดังนี้
- ปัสสาวะขัด สำหรับผู้ที่มีอาการ ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะขัด เจ็บ ต้องออกแรงเบ่ง ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะสะดุดกลางคัน เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า อาจเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นนิ่วในไต ซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยทั่วไป หากไม่ได้ดื่มน้ำก่อนเข้านอน เมื่อนอนหลับไปแล้ว 6 - 8 ชั่วโมง เรามักจะไม่ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก ทั้งนี้เพราะกระเพาะปัสสาวะจะสามารถเก็บน้ำได้ถึง 250 ซี.ซี. แต่ในคนที่เป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถหยุดการขับน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีน้ำออกมามากและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงมักจะตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางดึก
- ปัสสาวะเป็นฟองมาก ปกติเวลาที่เราปัสสาวะจะมีโปรตีนไหลปนออกมาด้วย ซึ่งโปรตีนนี่เอง ที่ทำให้เกิดฟองสีขาวๆ หากใครปัสสาวะแล้วมีฟองสีขาวเหมือนฟองสบู่ออกมามากกว่าที่เคยเป็น นั่นอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า ไตของเราทำงานผิดปกติ เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในไตเกิดการอักเสบ ซึ่งหากเกิดร่วมกับการปัสสาวะเป็นเลือด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นโรคไต ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
- ปัสสาวะเป็นเลือด ปกติน้ำปัสสาวะของเราจะมีสีเหลืองใส หรืออาจจะมีสีเข้มขึ้นได้นิดหน่อยหากดื่มน้ำน้อย หรือจางลงได้เมื่อดื่มน้ำมาก แต่ถ้าหากปัสสาวะมีสีแดงคล้ายเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ สีชาแก่ หรือสีเหลืองเข้ม นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่ามีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ โดยอาจจะเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีนิ่วในไต เป็นไตอักเสบ หรือมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
อาการบวม
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตส่วนใหญ่ มักจะมีอาการบวมตามที่ต่างๆของร่างกาย เช่น อาการบวมรอบดวงตา และที่บริเวณหน้า ซึ่งอาจสังเกตได้เวลาตื่นนอน หรืออาการบวมที่เท้า สังเกตได้ในตอนช่วงบ่ายของทุกวัน หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องยืนเป็นเวลานานจะรู้สึกว่ารองเท้าที่สวมอยู่ดูคับ ขึ้น ทั้งนี้ หากใช้นิ้วกดไปตรงบริเวณที่บวมแล้วมีรอยบุ๋มลงไป ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นโรคไต ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
อาการปวด
พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดกระดูกและข้อ โดยจะมีลักษณะการปวดคือ รู้สึกปวดที่บั้นเอว หรือบริเวณชายโครงด้านหลัง และมักปวดร้าวไปถึงท้องน้อย ขาอ่อน หัวเหน่า และที่อวัยวะเพศ การปวดในบริเวณดังกล่าว อาจเกิดจากมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพอง
ความดันโลหิตสูง
เป็นอาการสำคัญอย่างหนึ่งที่บอกให้รู้ว่าคุณมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต เรื้อรัง โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงมานาน และไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะที่สมดุลจะยิ่งมีภาวะ เสี่ยงมากกว่าปกติ โดยอาจจะเป็นโรคไตเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดแดงในไตตีบได้
เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคไต ทำยังไงดี
โรคชนิดนี้เกิดจากพฤติกรรมการกินเป็นสำคัญ ดังนั้น หากไม่อยากเป็นโรคไต ควรหันมาใส่ใจในเรื่องอาหารการกิน โดยพยายามงดอาหารที่มีรสเค็มจัดและอาหารที่มีไขมันสูงอย่างเด็ดขาด สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคไต หากมีอาการผิดปกติในข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น ไม่ควรนิ่งนอนใจให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะโรคไตบางชนิด เช่น นิ่วในไต กรวยไตอักเสบ รักษาได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
แหล่งข้อมูล : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 222