ไต เป็นอวัยวะที่มีขนาดกำปั้นของผู้เป็นเจ้าของ รูปร่างคล้ายถั่วแดงอยู่ด้านหลังทั้ง 2 ข้างของลำตัวในแนวระดับของกระดูกซี่โครงล่างหรือเหนือระดับสะดือ มีหน้าที่ ขับถ่ายของเสียอันเกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน , ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ และควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ดังนั้นหากไตมีความบกพร่อง หน้าที่การขจัดของเสียและดูแลความสมดุลก็จะบกพร่องไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยบางรายจะมีอาการบ่งชี้ แต่บางรายกว่าจะแสดงอาการก็อยู่ในระยะรุนแรงแล้ว
โรคไตมีอยู่ 8 ชนิด แต่ที่รุนแรงก็คือไตวายเรื้อรัง โดยอาการแรกที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไตวายคือ อาการอ่อนเพลีย ซึมๆ มึนงง นอนไม่หลับ คันตามร่างกาย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ความรู้สึกรับรสของลิ้นเปลี่ยนไป น้ำหนักลด ชาปลายมือปลายเท้า รู้สึกหนาวง่าย ปวดแสบปวดร้อนบริเวณเท้า ปวดศีรษะ เป็นต้น
แต่อาการเหล่านี้ยังไม่ใช่อาการเฉพาะของโรคไตเพราะอาจพบในโรคอื่นๆได้
อาการเตือนที่สำคัญ 6 อย่างที่ทำให้นึกถึงโรคไตคือ
- การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายปัสสาวะ เช่นปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อยลง
- มีอาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะสะดุดหรือมีเศษนิ่วปนออกมา
- ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อหรือปัสสาวะเป็นฟอง
- การบวมของใบหน้า เท้า และท้อง
- อาการปวดเอวหรือหลังด้านข้าง (ไม่ต่ำกว่าเอวหรือไม่อยู่กลางหลัง)
- ความดันโลหิตสูง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีบางคนที่เป็นไตวายแต่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ จึงต้องอาศัยการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัย อย่างไรก็ตามโรคไตวายเรื้อรังมักเป็นผลแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ จากการศึกษาพบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงและเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบสาเหตุอื่นๆ อีก คือเกาต์ เอสแอลอี ภาวะหัวใจวาย กรวยไตอักเสบเรื้อรัง รวมถึงการแพ้ยา
ควบคุมอาหารก่อนไตเสื่อมสภาพ
ในผู้ป่วยไตวายที่ยังสูญเสียสภาพไตไม่มากจะต้องพยายามชะลอการเสื่อมของไตให้มากที่สุด ดังนี้
- จำกัดอาหารที่มีโซเดียมมาก ได้แก่ อาหารที่รสเค็ม ทั้งเกลือ น้ำปลา ซอส หรือพวกดองเค็ม ดองเปรี้ยว หรือที่มีรสหวานจัด และจำกัดอาหารที่มีโปรตีนและโปแตสเซียม ได้แก่ พวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เครื่องในสัตว์ ไข่ นม พวกผัก หัวผักกาดสีแสด ผักชี ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม ถั่ว ผลไม้แห้งทุกชนิด เช่นลูกเกด ลูกพรุน และกากน้ำตาล ช็อคโกแล็ต มะพร้าวขูด (คำว่าจำกัดหมายถึงให้กินแต่น้อย ประมาณ 20-25 กรัมต่อวัน)
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไตวายขั้นรุนแรง จะต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวันให้เหมาะสมตามวิธีการคำนวณง่ายๆ คือปริมาณน้ำดื่มแต่ละวัน= ปริมาณปัสสาวะของเมื่อวาน + 500 มิลลิลิตร
- รักษาด้วยยา เช่น ยาลดความดัน ยาจับฟอสฟอรัสหรือยารักษาความเป็นกรดในเลือด เป็นต้น
- ไม่ทำงานหนัก หรือเล่นกีฬาหักโหม อาบน้ำทุกวันโดยใช้สบู่อ่อน ทาผิวหนังด้วยน้ำมันหรือครีม เพื่อลดอาการผิวแห้งและคัน ตัดเล็บให้สั้น ทำความสะอาดปากและฟันบ่อยๆ เพื่อลดการติดเชื้อ
หากผู้ป่วยมีอาการถึงระยะสุดท้ายจะต้องล้างไต โดยการฟอกเลือดจากเครื่องไตเทียม หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต
กันดีกว่าแก้
การบริโภคอาหารตามแนวทาง ชีวจิตก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้เราห่างไกลโรคร้ายนี้ได้ รวมทั้งยังได้ความอร่อยและทำให้ภูมิชีวิตเราทำงานได้ดีขึ้นด้วย
การทานอาหารชีวจิตง่ายๆ ก็คือ ไม่กินแป้งที่ขัดขาว งดเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก ได้แก่ เนื้อ หมู ไก่ แล้วหันมาทานโปรตีนที่ได้จากพืช และทานผลไม้เป็นอาหารยามว่างแทนที่จะเป็นขนมกรุบกรอบทั่วไป นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือหมั่นออกกำลังกายและทำจิตใจให้สงบ แจ่มใส สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรจะตรวจปัสสาวะทุกปี เพื่อดูการทำงานของไตว่าปกติอยู่หรือไม่
ข้อมูลจาก :นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 124