ชาเป็นเครื่องดื่ม ที่ดื่มกันมากที่สุดในโลก รองจากน้ำเปล่าและเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มกันมานานหลายศตวรรษ โดยเริ่มจากประเทศจีน คนสมัยก่อนดื่มชา เพราะเชื่อว่ามีฤทธิ์เป็นยา สมัยนี้เรามีงานวิจัยมากมายที่รองรับถึงประโยชน์ด้านสุขภาพของชา
ชานั้นมีหลาย ประเภท ชาดำ ชาเขียว ชาขาว ชาแดง ชาอู่หลง ชาสมุนไพร และชาดอกไม้ต่างๆ ข่าวคราวเรื่องของชา รวมทั้งโฆษณาต่างๆ มีมาให้เราได้อ่านได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งอาจทำให้คนทั่วไปรู้สึกสับสนว่าควรเลือกดื่มชาประเภทไหนดีกันแน่ ถึงจะได้ประโยชน์ทางสุขภาพอย่างแท้จริง
ดังนั้นควรมาทำความรู้จักกับชาชนิดต่างๆ กันก่อน
ชาดำ ชาเขียว ชาขาว และชาอู่หลง คือใบของต้นชา Camellia ซึ่งใบของต้นชานี้เองที่มีสารพฤกษเคมี กลุ่มพอลีเฟอนอลส์ (Polyphenois) ใบชาที่ผ่านขั้นตอนการผลิตมาก จะส่งผลให้มีใบชามีสีเข้มขึ้น ก็คือ ชาดำกับชาอู่หลงนั่นเอง ชา 2 ชนิดนี้ จะผ่านขั้นตอนอบให้แห้ง บดและหมัก ส่วนชาเขียวและชาขาวนั้น จะไม่ผ่านขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน เพียงแค่ให้ผ่านความร้อน เหมือนการนึ่งอย่างรวดเร็วเท่านั้น ชาขาวเป็นชาที่ได้จากใบชาอ่อนของต้นชา Camellia ที่ออกมาตอนช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ใบชามีสีขาว เพราะไม่มีคลอโรฟิล
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นชาดำ อู่หลง ชาเขียว หรือชาขาว มีสารพฤกษเคมีด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งสารพฤกษเคมีกลุ่มพอลีเฟอนอลส์นี้ มีฤทธิ์ตานอนุมูลอิสระสูงมากและมากพอๆ กับหรือมากกว่าผักและผลไม้หลายชนิดเลยด้วย
ส่วนชาสมุนไพร ไม่ได้ผลิตจากใบของต้นชา Camellia ดังนั้นจึงไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระพอลีเฟอนอลส์ ชาสมุนไพร เป็นชาที่ได้จากส่วนของดอก ราก สมุนไพร เครื่องเทศ หรือส่วนอื่นๆ ของพืชสมุนไพร ชาแดงก็เช่นกัน ไม่ได้มาจากใบของต้น Camellia และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงประโยชน์ด้านสุขภาพกับการดื่มชาแดง
ถึงแม้ว่าชาสมุนไพรและชาแดงจะไม่มีสารต้านอนุมูลอสิระพอลีเฟอนอลส์ แต่การดื่มชาเหล่านี้ อาจมีผลประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่น คือ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและคลายความเครียดได้
สารต้านอนุมูลอิสระปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากอาหารหรือมลภาวะต่างๆ ซึ่งเซลล์ที่ถูกทำลายนี้จะกลายเป็นอนุมูลอิสระที่ไวต่อปฏิกิริยาต่างๆ มาก และจะไปทำลายเซลล์ใกล้เคียงอื่นๆ ได้ง่าย สารต้านอนุมูลอิสระจะมาช่วยดับพิษ และป้องกันเซลล์รอบข้างให้แข็งแรง เซลล์มะเร็งและการแข็งตัวของหลอดเลือด เป็นตัวอย่างของอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย
ทั้งนี้พบว่าสารพอลีเฟอนอลส์อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งในหลอดอาหาร มะเร็งผิวหนัง มะเร็งในกระเพาะอาหาร และมะเร็งในรังไข่ได้ มีงานวิจัยจากประเทศสวีเดนที่ติดตามหญิง 60,000 คนวัย 40-76 ปี ไปมากกว่า 15 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มชามากกว่า 2 ถ้วย ต่อวัน ลดความเสี่ยงของมะเร็งในรังไข่ลงไปได้ร้อยละ 46 ส่วนผู้ที่ดื่มชาวันละ 1 ถ้วย ยังสามารถลดความเสี่ยงลงได้ร้อยละ 24 ซึ่งการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Internal Medicine ในปี ค.ศ.2005
ชาเขียว ดูเหมือนจะเป็นชาที่เลื่องลือมากในบรรดาชาทั้งหลาย ถึงสรรพคุณต่างๆ นานา และหลายคนก็กล่าวว่าชาเขียวเป็นชาที่ดีที่สุดเพราะเป็นชาที่ไม่ได้ผ่านขั้น ตอนในการผลิตดังเช่นชาดำ สรรพคุณหนึ่งที่ถูกอ้างถึงคือ ช่วยลดโคเลสเตอรอลและลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
มีการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ติดตามชาวญี่ปุ่น 400,000 คน อายุระหว่าง 40-79 ปี ไปกี่ปี พบว่า ผู้ที่ดื่มชาเขียวมากกว่า 5 ถ้วยต่อวันมีอัตราการตายจากโรคขาดเลือดลดลงร้อยละ 26 นักวิจัยพบด้วยว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากชาเขียวมากกว่า ผู้ชาย
แต่ถึงอย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญและอ.ย. ยังไม่สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างว่าชาเขียวนั้นดีต่อสุขภาพหัวใจอย่างแท้จริง หลังจากที่ทบทวนดูผลการศึกษาจาก 105 งานวิจัย เพราะยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ ผลการศึกษายังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ ชาเขียวนั้นมีสารคาเทชิน (Catechins) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่อยู่ในกลุ่มของพอลีเฟอนอลส์ พบว่าสารคาเทชินอาจมีส่วนช่วยลดน้ำหนัก และลดปริมาณไขมัน โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง (ซึ่งเป็นไขมันอันตรายต่อสุขภาพ) ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินได้ แต่ก็จะต้องควบคุมปริมาณอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำควบคู่กันไปด้วย
น่าสังเกตด้วยว่าการศึกษาเหล่านี้ได้ให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิจัย ดื่มชาเขียวมากกว่า 5-6 ถ้วยต่อวัน และเป็นชาที่ชงจากใบชา ไม่มีการเติมนม เติมน้ำตาล ชานี้ก็จะเป็นเครื่องดื่มไม่มีแคลอรี ก็หมายความว่าเป็นการควบคุมปริมาณแคลอรีที่ได้รับไปในตัวด้วย ปริมาณของสารคาเทชิน ที่อยู่ในชาเขียวนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพการปลูกต้นชา การผลิต ปริมาณของชาที่ใช้ชง เวลาที่ชง และอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ใช้ สรุปได้ว่าชาเป็นเครื่องดื่มยอด นิยมที่ดื่มกันมานาน และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาขาว หรือชาดำ ล้วนมีสารพฤกษเคมีพอลีเฟอนอลส์ทั้งสิ้น แนะนำให้ใช้น้ำร้อน (ไม่ใช่น้ำเดือด) เวลาชงชา และควรให้ใบชาแช่ในน้ำร้อนอย่างน้อย 3-5 นาทีก่อนดื่ม เพราะจะได้สารพอลีเฟนอลล์มากที่สุด การเติมนมลงในชา จะทำให้สารพอลีเฟอนอลส์ลดประสิทธิ์ภาพลง และการเติมน้ำตาล (หรือดื่มชาสำเร็จรูป ชาขวด ชากระป๋อง) จะทำให้ได้รับแคลอรีที่ไม่จำเป็นและอาจเกินได้ง่ายๆ ชามีสารคาเฟอีน ซึ่งถ้าดื่มมากๆ อาจส่งผลต่อการพักผ่อน หลับนอนได้ในผู้ที่มีความไวต่อคาเฟอีน
: ถึง แม้ว่าผู้ที่เชี่ยวชาญจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปและให้คำกล่าวอ้างในด้านการ ป้องกันโรคหัวใจกับชาได้ แต่ชาเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีโทษ และเป็นเครื่องดื่มที่แนะนำให้ดื่มเป็นประจำและเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเพื่อ สุขภาพ
กฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหาร
หนังสือ : HealthToDay