ดูแล เต้านม ให้สุขภาพดีทุกวัย

ดูแล เต้านม ให้สุขภาพดีทุกวัย

อายุที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงกังวลเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรวงอก ที่ไม่มีใครอยากให้หย่อนยานกลายเป็น “ถุงกาแฟ” หรือเกิดความผิดปกติใดๆ

คุณรู้หรือไม่ว่า ปัจจัยที่ทำให้หน้าอกเปลี่ยนแปลง มีหลายสาเหตุมาก ตั้งแต่การขึ้น-ลงของน้ำหนัก ช่วงมีประจำเดือน การคลอดหรือให้นมบุตร และการก้าวสู่ช่วงวัยทอง เรียกได้ว่าหน้าอกสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทุกปี

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย และเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ลองมาฟังคำแนะนำที่รวบรวมมาให้คุณดูแลตามวัยกันค่ะ

 หญิงวัยทำงาน 30
      ผู้หญิง วัยนี้ยังอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สภาวะฮอร์โมนในร่างกายยังทำงานเป็นปกติ หน้าอกจึงยังไม่หย่อนคล้อย การเปลี่ยนแปลงของหน้าอกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้หน้าอกใหญ่ขึ้น แต่หลังจากคลอดและให้นมบุตร หน้าอกจะเล็กลงประมาณครึ่ง-1 คัพ เนื่องจากต่อมน้ำนมในหน้าอกทำงานและหดตัวลงตามธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย เซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนียระบุว่า หญิงที่เลี้ยงดูให้นมบุตรหลังอายุ 25 ปี จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย
      ส่วนคนโสดมักมีปัญหาหน้าอกทั่วไป นั่นคือ เจ็บหรือคัดตึงหน้าอก การคลำเจอก้อนถุงน้ำ หรือซีสต์ ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นก่อนหรือหลังการมีประจำเดือน ที่ไม่ส่งผลต่อร้ายสุขภาพ และไม่ใช่ก้อนมะเร็ง ถุงน้ำมีโอกาสยุบหายได้เอง ทั้งนี้จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ ควรให้แพทย์วินิจฉัยและติดตามว่าก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือไม่
      ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท พลตรี นพ. สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำสาวๆ ตั้งแต่วัย 25 ปีขึ้นไปว่าควรทำการตรวจเต้านมตนเองทุกๆ 1-2 เดือน แม้ว่าวัยนี้จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ “ไม่มีโอกาสเป็น” เพราะถ้าตรวจคัดกรองดี ก็จะรักษาได้ทันท่วงทีและมีโอกาสหายได้
      สมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ASC) ยังแนะนำให้หญิงที่มีพ่อแม่ หรือพี่น้องซึ่งเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ตรวจแมมโมแกรมก่อนช่วงอายุเดียวกันของคนในครอบครัวที่ตรวจพบมะเร็ง 10 ปี เช่น ถ้าแม่เป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี คุณก็ควรได้รับการตรวจเมื่ออายุ 30 ปี อย่างไรก็ตามแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจโดยการเอกซเรย์ หรือทำอัลตราซาวนด์ก็เพียงพอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติการเกิดโรคในครอบครัวและความเหมาะสมของแต่ละคน

              คำแนะนำทั่วไป :
         - หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะหลังการมีประจำเดือน 7-10 วัน
         - นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์ความผิดปกติทุก 3 ปี
         - ตรวจแมมโมแกรมตามความจำเป็นของปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม

หญิงวัย 40
         หน้า อกของหญิงวัยนี้จะมีความหย่อนคล้อยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากต่อมไขมันในเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มวลน้ำหนักมากขึ้นและคล้อยตามแรงโน้มถ่วงโลก
         ส่วน ความผิดปกติของเต้านมของหญิงวัยนี้คงไม่แตกต่างอะไรจากกลุ่มวัย 30 นั่นคือ อาจคลำเจอถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมก็มากขึ้นตาม
         จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย พบว่า หญิงอายุ 40-49 ปี เป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 34.3%          ทำ ให้การตรวจคัดกรองในช่วงอายุนี้ต้องละเอียดและเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกปี โดยเฉพาะหญิงวัยทอง ที่อาจได้รับคำแนะนำให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน
         แม้ ว่าจะมีงานวิจัยอ้างว่า การรับประทานฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันหลายปีจะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่แพทย์จำนวนไม่น้อยลงความเห็นให้รับประทานต่อไป เพราะมันสามารถบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ และลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลาของการรับประทานฮอร์โมนทดแทนของแต่ละคนก็แตกต่าง กัน สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและแนะนำคุณ ซึ่งแพทย์ก็มักจะแนะนำให้คุณหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเต้านมเองทุกเดือน และทำแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี

คำแนะนำทั่วไป :

          - หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงประมาณ 80-90%จะตรวจพบความผิดปกติได้เอง
          - นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี
          - เพื่อปรับบุคลิกภาพให้ดี และหน้าอกไม่หย่อนคล้อย พยายามนั่งตัวตรง แอ่นหน้าอก และเน้นบริหารหน้าอกอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเต้านมจะประกอบด้วยไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ ทำให้กลับไปเต่งตึงหรือกระชับดังเดิมได้ยาก แต่ถ้ากล้ามเนื้อรอบๆ แข็งแรงก็ยังช่วยให้ดูกระชับมากขึ้นได้


หญิงวัย 50 ขึ้นไป
         การ เปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมีผลทำให้ต่อมไขมันและเนื้อเยื่อเต้านมไม่ตึงตัว หน้าอกของหญิงวัยนี้จึงมีสภาวะหย่อนคล้อย และผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนเดิม
         สถาบัน มะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่า สถิติการเป็นมะเร็งเต้านมของหญิงกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอายุ 40-49 ปี นั่นคือ ประมาณ 27% แต่การทำแมมโมแกรมของหญิงวัยนี้น่าจะทำได้สะดวกกว่าหญิงอายุน้อย เพราะสภาพเต้านมมีความยืดหยุ่นจากไขมันมากขึ้น อำนวยให้เครื่องสามารถตรวจสอบหาความผิดปกติได้ง่ายขึ้น
         อย่าง ไรก็ตามสิ่งที่หญิงวัยนี้พึงทำควบคู่กับการดูแลทรวงอกให้มีสุขภาพดีคือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด เพราะหลังวัยทอง ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานได้ไม่ดีเท่าเดิม กล้ามเนื้อไม่เต่งตึง และทำให้ไขมันสะสมตามเอว หน้าท้อง สะโพกและต้นขาได้ง่าย
         จาก การวิจัยของสาธารณสุขการแพทย์ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด พบว่า ผู้หญิงที่เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมต่ำกว่าคนที่รับประทานตามใจปาก ทั้งนี้การรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างโอเมก้า-3 มีใยอาหารและหมั่นออกกำลังกายควบคู่กัน สามารถป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

คำแนะนำทั่วไป :
          - หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน
          - นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี
          - เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย บริหารหน้าอกด้วยการยกดัมเบลล์ เริ่มจากการนอนหงาย งอเข่าทั้งสองข้างขึ้น แขนทั้งสองยกดัมเบลล์ขึ้นชูเหนือระดับหน้าอก หายใจออกและลดระดับแขนจนข้อศอกตั้งฉากกับหัวไหล่ นับ 1 ครั้ง ทำติดต่อกัน 8-12 ครั้ง 3 เซต

Tips การดูแลหน้าอกหลังผ่าตัด
          สำหรับ หญิงที่ได้รับการผ่าตัดหน้าอก เช่น เจาะถุงน้ำ ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดก้อนมะเร็งบางส่วนออก ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายบริหารหน้าอก เพื่อลดอาการบวม หรือเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการบีบและคลายลูกบอลยางขนาดเท่าลูกเบสบอลทุกวัน วันละ 2-3 นาที ทั้งแขนซ้ายและขวา และเมื่อแผลหายดี ให้พยายามหลีกเลี่ยง
          - การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
          - การเจาะเลือด หรือวัดความดันข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
          - การสวมเสื้อที่มีแขนรัด หรือสวมกำไลข้อมือ นาฬิกาหรือแหวน ที่รัดนิ้วหรือแขนข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด