โรคบ้านหมุน

โรคบ้านหมุน

อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน อาจเกิดจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น โรคขี้หูอุดตัน ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคที่ร้ายแรงได้ เช่น เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ เนื้องอกของประสาททรงตัว หรือโรคของระบบประสาทส่วนกลาง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ล้ม เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะเกิดเลือดออกในสมอง หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การรู้จักโรคนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

     โรคบ้านหมุน หรือโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ เป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แต่แท้จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวผู้ป่วยเองหมุนหรือไหวไป ทั้งๆ ที่ตัวผู้ป่วยเองอยู่เฉยๆ ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการรับข้อมูล หรือการเสียสมดุลของระบบประสาททรงตัวของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยตา ประสาทสัมผัสบริเวณข้อต่อ อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน ระบบประสาทส่วนกลางที่ฐานสมอง และตัวสมองเอง โดยทั้งหมดนี้จะทำงานเกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวกับอวัยวะการได้ยินอยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กันจากหูไป สู่สมอง โรคของระบบทรงตัวที่ทำให้บ้านหมุนจึงมักสัมพันธ์กับการเสียการได้ยิน หูอื้อ และมีเสียงดังรบกวนในหูได้ รวมถึงเมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ก็มักจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตา (ตากระตุก หรือ nystagmus) การเซ การล้ม อาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตกร่วมด้วยได้

สาเหตุ
    โรคบ้านหมุน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

โรคของหู
      หูชั้นนอก ได้แก่ หูชั้นนอกอุดตัน จากขี้หู เนื้องอก หนอง หรือการอักเสบจากหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลางอักเสบ กระดูกช่องหูหักจากอุบัติเหตุ

      เลือดคั่งในหูชั้นกลาง (hemotympanum) จากอุบัติเหตุ หรือการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ

      หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง (หูน้ำหนวก)

      ท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลาง ทำงานผิดปกติ หรือมีการอุดตันจากโรคจมูกอักเสบเฉียบพลัน (หวัด) หรือเรื้อรัง (เช่น โรคแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบภูมิแพ้) โรคไซนัสอักเสบ การดำน้ำ การขึ้น-ลงที่สูง ก้อนเนื้องอกที่โพรงหลังจมูก

      การทะลุของเยื่อที่ปิดช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน (perilymphatic fistula) จากการไอ เบ่ง หรือจามแรงๆ หรือเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ที่มีภาวะแทรกซ้อน

      หูชั้นใน ได้แก่ การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) โดยเชื้ออาจลุกลามมาจากหูชั้นกลางที่อักเสบเฉียบพลัน หรือเยื่อหุ้มสมองที่อักเสบ หรือหูชั้นกลางที่อักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวก) และมีภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดจากการติดเชื้อซิฟิลิส ไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต

      การอักเสบของหูชั้นในจากสารพิษ (toxic labyrinthitis) ได้แก่ ยาที่มีพิษต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน เช่น ยาต้านจุลชีพ กลุ่ม aminoglycoside, quinine, salicylate, sulfonamide, barbiturate

      การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน ทำให้มีเลือดออกในหูชั้นใน ฐานสมอง ก้านสมอง หรือสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว

      การได้รับแรงกระแทก การบาดเจ็บจากเสียงดัง เช่น ระเบิด ประทัด การยิงปืน หรือการผ่าตัดบริเวณหู

      โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease)

      โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (benign paroxysmal positional vertigo หรือ BPPV) ซึ่งอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ศีรษะหันไปทางใดทางหนึ่ง และมักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ (เป็นวินาที มักไม่เกิน 1 นาที)

โรคของทางเดินประสาท และสมอง
      เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (vestibular neuronitis)
     เนื้องอกของประสาททรงตัว (vestibular schwannoma)
     โรคของระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่

      ความผิดปกติของกระแสโลหิตที่ไปเลี้ยงระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัวไม่พอ อาจเกิดจากไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ (สารนิโคติน ทำให้เส้นเลือดตีบตัว) การดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (สารกาเฟอีน ทำให้เส้นเลือดตีบตัว) เบาหวาน เลือดข้นผิดปกติ ซีด กระดูกคอเสื่อม หรือมีหินปูนบริเวณกระดูกคองอกไปกดหลอดเลือดขณะมีการหันศีรษะหรือแหงน เครียด หรือวิตกกังวล (ทำให้เส้นเลือดตีบตัวชั่วคราว) โรคหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจขาดเลือด)

      การเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว

      การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง

     สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease) โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ (hypothyroidism) โรคเลือด (มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดสูงผิดปกติ ซีด เลือดออกง่ายผิดปกติ) โรคหลอดเลือดแข็งและตีบจากโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกคอเสื่อม โรคไต ระดับยูริกในเลือดสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคภูมิแพ้

4. ไม่ทราบสาเหตุ

กลุ่มเสี่ยง
     คนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคบ้านหมุนคือ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหู ทางเดินประสาท และสมองดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งโรคของต่อมไทรอยด์ โรคเลือด และหลอดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกคอเสื่อม และโรคไต

อาการที่ปรากฏ
     สัญญาณเตือนที่ควรระวังของโรคบ้านหมุน ได้แก่ มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเคลง รู้สึกมึนๆ งงๆ เบาๆ โหวงๆ มีตากระตุก เดินแล้วเซ จะล้ม มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตกร่วมด้วย

การวินิจฉัย
     การวินิจฉัยสาเหตุของโรคบ้านหมุนจะอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจทางหู คอ จมูก การตรวจตา การตรวจเส้นประสาทสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง การวัดความดันโลหิตในท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน (เพื่อตรวจหาความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนท่า) และการตรวจพิเศษ เช่น

      - การเจาะเลือดเพื่อหาภาวะซีด เลือดข้น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดมากผิดปกติ เบาหวาน ระดับไขมันในเลือดที่สูง ระดับยูริกในเลือดที่สูง การอักเสบของร่างกาย (erythrocyte sedimentation rate: ESR) ซึ่งอาจบ่งถึงโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไต การติดเชื้อซิฟิลิส หรือเอดส์ การทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำเกินไป

      - การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีโรคไตหรือไม่

      - การตรวจการได้ยิน เพื่อดูว่ามีโรคของหูชั้นกลาง หรือหูชั้นในหรือไม่

      - การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของหัวใจหรือไม่

      - การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง (brainstem electrical response audiometry) โดยใช้เสียงกระตุ้นทางเดินประสาทที่ผ่านหู ตั้งแต่หูชั้นใน ประสาทสมองที่เกี่ยวกับการได้ยินไปสู่ก้านสมอง และผ่านไปกลีบสมอง วิธีนี้สามารถตรวจความผิดปกติของโรคในสมองส่วนกลางได้รวดเร็วและแม่นยำ

      - การตรวจระบบประสาททรงตัว โดยเครื่องวัดการทรงตัว เพื่อแยกความผิดปกติของภาวะข้อเสื่อมจากโรคหูชั้นในและโรคของสมอง

      - การถ่ายภาพรังสีกระดูกคอ เพื่อดูว่ามีกระดูกคอเสื่อมหรือไม่

      - การถ่ายภาพรังสี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือเอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อดูว่ามีโรคของทางเดินประสาท หรือสมองหรือไม่

      - การตรวจการไหลเวียนของกระแสโลหิตผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปสู่สมอง โดยใช้อัลตราซาวน์ ซึ่งจะบอกแรงดันเลือด ความเร็วของการไหล และความไม่สมดุลของการไหลเวียนของกระแสโลหิตได้

การรักษา
การรักษาตามอาการ ได้แก

     - ให้ยาที่กดการรับรู้ของประสาททรงตัว เพื่อให้หายจากอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน

     - ให้ยาสงบ หรือระงับประสาท

     - ให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน

     - ให้ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว ซึ่งการให้ยาดังกล่าวนี้ เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ

     - เมื่ออาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนน้อยลงแล้ว ควรให้เริ่มการบริหารระบบทรงตัว (head balance exercise) เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลของระบบประสาททรงตัวได้ การบริหารดังกล่าวเป็นการฝึกฝนการปรับวิสัยการทรงตัวต่อตัวกระตุ้นสมมุติที่ สร้างขึ้น ซึ่งจะสร้างนิสัย “เคยชิน” ต่อสภาวะนั้นๆ ให้เกิดขึ้นในอวัยวะทรงตัว เพื่อให้สามารถทรงตัวได้อย่างดีในสภาวะต่างๆ ได้แก่ การฝึกบริหารสายตา ฝึกกล้ามเนื้อ คอ แขนขา ฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและคอ รวมทั้งการเดิน และยืน

      - ถ้าผู้ป่วยหายเวียนศีรษะ บ้านหมุนแล้ว ควรป้องกันไม่ให้มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนอีก โดย
* หลีกเลี่ยงเสียงดัง
* ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด ควบคุมโรคให้ดี
* หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาททรงตัว เช่น aspirin, aminoglycoside, quinine
* หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
* หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
* ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารกาเฟอีน) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน)
* พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดที่จะไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว ลดความเครียด วิตกกังวล และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การรักษาตามสาเหตุของโรค
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องขณะเวียนศีรษะ บ้านหมุน
     - เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนขณะเดิน ควรหยุดเดิน และนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนศีรษะ บ้านหมุน อาจทำให้ผู้ป่วยล้มเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียน หรือบ้านหมุนมาก ควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น และผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ถ้าอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนน้อยลงค่อยๆ ลุกขึ้น แต่อาจรู้สึกง่วง หรือเพลียได้ ถ้าง่วง แนะนำให้นอนหลับพักผ่อน ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นหลังตื่นนอน

      - ไม่ควรว่ายน้ำ ดำน้ำ ปีนป่ายที่สูง เดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว หรือเดินบนเชือกข้ามคูคลอง ขับรถ หรือ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขณะมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรืออันตราย

      - หลีกเลี่ยงสารกาเฟอีน (ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม และกาแฟ) และการสูบบุหรี่ ซึ่งจะลดเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว

      - พยายามอย่ารับประทานอาหารหรือดื่มมากนัก จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง

      - พยายามหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ในระหว่างเกิดอาการ ได้แก่ การหมุนหรือหันศีรษะไวๆ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม เงยคอ หรือหันอย่างเต็มที่

      - พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สารก่อภูมิแพ้ (ถ้าแพ้) การเดินทางโดยทางเรือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

      - เวลามีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนให้รับประทานยาที่แพทย์ให้ ดังนั้นควรพกยาดังกล่าว ในช่วงเวลาเดินทางเสมอ

     ถ้าอาการเวียน ศีรษะ บ้านหมุนเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ดังนั้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์


 

โดย :รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน โสต ศอ นาสิกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้