ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรืออีดี (erectile dysfunction; ED) คือภาวะที่ไม่สามารถคงการแข็งตัวขององคชาตได้หรือแข็งตัวอยู่ได้เพียงระยะ สั้นๆ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์
ถึงแม้อีดีจะไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง แต่มีผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
กลไกของการเสื่อมสมรรถภาพเพศชาย
การแข็งตัวขององคชาตต้องการการทำงานที่ครบวงจร การสั่งงานของวงจรดังกล่าวเริ่มต้นจากสมองไปที่ไขสันหลัง แล้วไปยังบริเวณรอบองคชาต ซึ่งจะมีการตอบสนองของกล้ามเนื้อ หลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงภายในและใกล้กับแกนขององคชาต ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจะเกิดขึ้นเมื่อมีตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของวงจรผิด ปกติ โดยอาจเกิดจาก
1. เส้นประสาท หลอดเลือดแดง กล้ามเนื้อเรียบหรือเนื้อเยื่อขององคชาตถูกทำลาย ซึ่งมักเป็นผลจากโรคต่างๆ ได้แก่ เบาหวาน โรคไต การดื่มสุราเรื้อรัง โรคหลอดเลือดตีบตันหรือโรคของระบบประสาทเอง
2. รูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันอาจส่งผลให้เกิดปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น
* การสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อการไหลของหลอดเลือดดำและแดง
* การมีน้ำหนักตัวมากเกินปกติและไม่ได้ออกกำลังกาย
* การผ่าตัดบริเวณช่องเชิงกราน เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง อาจทำลายเส้นประสาทและหลอดเลือดแดงใกล้กับองคชาต
* ยาที่ต้องกินเป็นประจำ เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาแผลในกระเพาะอาหารบางชนิด
* ปัจจัยทางสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า ความไม่เชื่อมั่นและความกลัวที่จะไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เป็นสาเหตุของ ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 10-20%
3. ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า “เทสโทสเตอโรน” (testosterone)
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศกับวัยทอง
ชายวัยทองมักเป็นวัยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอันเป็นผลให้ เกิดการสูญเสียความต้องการและสมรรถภาพทางเพศ แต่สามารถรักษาให้หายหรือดีขึ้นได้ด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน แสดงว่าฮอร์โมนมีผลต่อกลไกการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะความต้องการทางเพศ ทั้งยังมีการทดลองที่แสดงว่าฮอร์โมนมีผลต่อกลไกการแข็งตัวขององคชาตอีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่รักษาด้วยการทำให้เกิดภาวะ พร่องฮอร์โมนเพศชายจะมีความต้องการทางเพศลดลง มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบและขนาดขององคชาต ทั้งยังพบว่าในผู้ป่วยภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศส่วนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อ การรักษาด้วยยากินกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (phosphodiesterase; PDE) ซึ่งทำให้องคชาตแข็งตัวนั้น เมื่อได้รับฮอร์โมนเพศชายทดแทนจะเพิ่มการตอบสนองต่อการกินยาดังกล่าวได้ดี ขึ้น
ทั้งนี้ระดับฮอร์โมนเพศชายที่ต่ำกว่าปกติยังมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยง ต่างๆ ของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด อีกด้วย
วิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
* หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด การขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคไขมันในหลอดเลือด และโรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) การจะลดความเสี่ยงของภาวะนี้จึงต้องหลีกเลี่ยงและเปลี่ยนแปลงปัจจัยเสี่ยง เหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก และการสูบบุหรี่
* รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
พยายามหาวิธีใหม่เพื่อลดภาวะเครียดหรือความกดดัน เลือกกินอาหารที่มีไขมันต่ำและมีใยอาหารสูง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หาเพื่อนหรือกลุ่มที่ช่วยหรือสนับสนุนและสามารถให้คำปรึกษาได้ งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
วิธีการรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้รักษาโดยพิจารณาจากอาการรุนแรงน้อยไปหามาก ในผู้ป่วยบางรายแค่ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพแข็งแรงโดยการ หยุดสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย ก็อาจแก้ปัญหาและช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์ที่ดีกลับมาได้ แพทย์อาจพิจารณาหยุดยาที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทาง เพศและใช้ยาชนิดอื่นๆ แทน ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยจิตบำบัดและ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลังจากนั้นจึงรักษาด้วยยากินหรือยาฉีดที่องคชาต การใช้กระบอกสุญญากาศ และการผ่าตัดใส่แกนเข้าองคชาต
1. การรักษาทางจิตใจ
แพทย์มักจะรักษาผู้ป่วยภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วยเทคนิคการลดความเครียด ที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ ภรรยาหรือคู่นอนสามารถช่วยได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์แบบค่อยเป็นค่อยไปหรือมี การเล้าโลมก่อน ซึ่งเทคนิคนี้สามารถลดความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี การรักษาด้วยจิตบำบัดนี้สามารถใช้เป็นวิธีรักษาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับ การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ต้องใช้เวลา และผลของการรักษาก็มีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละบุคคล (อ่านต่อเรื่องวิธีปรนนิบัติ หน้า 90)
2. การรักษาด้วยยาที่ทำให้องคชาตแข็งตัว
การรักษาด้วยยาที่ทำให้องคชาตแข็งตัวเพื่อรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศมี หลายชนิด ได้แก่ ยากิน ยาฉีดเข้าที่องคชาต การใส่ยาเข้าในท่อปัสสาวะที่ปลายองคชาต เช่น
ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส เป็นยากินที่ได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ควรกินยาก่อนมีเพศสัมพันธ์ประมาณหนึ่งชั่วโมง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น
* ซิลเดนาฟิล (sildenafil) ขนาดยาที่แนะนำคือ 50 มิลลิกรัมและอาจปรับยาเพิ่มเป็น 100 มิลลิกรัมหรือลดเป็น 25 มิลลิกรัมขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน
* วาร์เดนาฟิล (vardenafil) และทาดาลาฟิล (tadalafil) ขนาดยาที่แนะนำคือ 10 มิลลิกรัม แพทย์อาจจะปรับยาเพิ่มเป็น 20 มิลลิกรัมถ้าใช้ยาไม่ได้ผล
ยาในกลุ่มนี้ไม่ควรใช้มากกว่าวันละหนึ่งครั้ง ผู้ป่วยที่กินยาชนิดไนเตรต เช่น ยาไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerin) สำหรับโรคหัวใจไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกันเพราะจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงทันที ในกรณีของการรักษาด้วยยากินไม่ได้ผล อาจเกิดจากสาเหตุหลักสองประการ คือ การใช้ยาไม่ถูกต้องหรือใช้ยาที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งแพทย์จะขอตรวจว่ายาที่กินเป็นยาจริงหรือยาปลอม มีการใช้ยาอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่น มีการกระตุ้นทางเพศอย่างเพียงพอ ใช้ยาในขนาดที่เหมาะสม รวมทั้งมีเวลาระหว่างการกินยาและการมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสม
ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายชนิดกินหรือชนิดฉีด สามารถ รักษาผู้ป่วยภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำกว่าปกติ อย่างไรก็ตามแพทย์จะให้ฮอร์โมนทดแทนกรณีมีข้อบ่งชี้อย่างชัดเจนและไม่มีข้อ ห้ามในการรักษา กล่าวคือ ไม่มีประวัติของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือต่อมลูกหมากโต ซึ่งระหว่างใช้ยาแพทย์จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยการตรวจทางทวารหนัก ความเข้มข้นของเลือด การควบคุมการเปลี่ยนแปลงการทำงานของตับและต่อมลูกหมาก รวมถึงการเจาะเลือดตรวจค่าพีเอสเอ (PSA) ที่เป็นค่าบ่งชี้ของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ยากินชนิดอื่น เช่น yohimbine hydrochloride มีประสิทธิภาพบ้างแต่ยังไม่ทราบผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
ยาฉีดที่องคชาต ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการกินยาให้องคชาตแข็งตัว ผู้ป่วยอาจสนองตอบต่อการฉีดยาเข้าที่องคชาต ซึ่งทำให้หลอดเลือดขยายตัวได้ ยาดังกล่าว ได้แก่ papaverine hydrochloride, phentolamine และ alprostadil โดยการแข็งตัวขององคชาตจะเกิดขึ้นหลังจากฉีดยาประมาณ 5-15 นาที ผู้ป่วยควรเรียนรู้เรื่องวิธีฉีดยาที่ถูกต้องและปลอดภัย ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียง ได้แก่ มีอาการปวดที่องคชาต องคชาตแข็งตัวอยู่ตลอด (priapism) และเป็นพังผืด
3. การใช้กระบอกสุญญากาศ
กลไกของกระบอกสุญญากาศคือ ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศบางส่วนซึ่งทำให้สามารถดึงเลือดเข้ามาภายในองคชาต หลอดเลือดขยายตัวและทำให้องคชาตแข็งตัวขึ้น อุปกรณ์ดังกล่าวมีอยู่สามส่วนคือ กระบอกพลาสติกสำหรับครอบองคชาต ตัวปั๊มซึ่งช่วยดึงอากาศออกจากกระบอกสุญญากาศ และยางรัดซึ่งวางรอบฐานขององคชาตเพื่อให้การแข็งตัวคงอยู่ได้หลังนำกระบอก สุญญากาศออกแล้วและระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ
4. การผ่าตัดใส่แกนหรืออวัยวะเทียมองคชาต
การผ่าตัดรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมเป็นแกนองคชาตเพื่อให้องคชาตสามารถแข็งตัวได้ การสร้างหลอดเลือดแดงใหม่เพื่อให้มีเลือดไหลเข้าองคชาตได้ หรือการหยุดเลือดดำไหลออกจากองคชาต สำหรับการผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมจะพิจารณาในผู้ป่วยที่กินยาแล้วไม่ได้ผลหรือ ต้องการแก้ไขแบบถาวร
ปัญหาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ป่วยคนเดียว แต่จะมีผลต่อภรรยาหรือคู่นอนด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าปัญหาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นปัญหาของทั้งคู่ ซึ่งควรแก้ปัญหาหรือยอมรับการรักษาร่วมกัน ภรรยาหรือคู่นอนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจภาวะนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ สามารถทำได้ และควรมีการสื่อสารระหว่างกันเพื่อเป็นพื้นฐานช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่ดี ขึ้น การให้กำลังใจคู่ของคุณว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งหรืออยู่กับปัญหาเพียงคนเดียว ตลอดจนให้ระลึกว่าปัญหาดังกล่าวรักษาได้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
แหล่งข้อมูล :นิตยสาร HealthToday
นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพศชาย