“แต่ ก่อนนี้ดิฉันป่วยบ่อยค่ะ เดี๋ยวปวดหัว เดี๋ยวปวดเมื่อย ชาตามตัว รู้สึกไม่ค่อยสบาย แต่หลังจากได้ดื่มน้ำผลไม้ผสมสมุนไพรเพื่อสุขภาพ อาการที่เป็นอยู่หายไปหมดเลยค่ะ”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของบรรดาโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางเลือก ที่บรรยายสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน ข้ออักเสบ ไปจนถึงเสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งหลายท่านคงจะคุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นเพอยู่ตามต่างจังหวัด หากมีอายุมากหน่อย คงจะรู้จัก “หนังขายยา” คือการฉายภาพยนตร์ตามงานวัด และคั่นรายการด้วยการขายยาชุดที่มีสรรพคุณครอบจักรวาล หรือรายการวิทยุจำพวกเพลงและละครวิทยุ ก็มักจะมีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโฆษณาด้วยเช่นกัน
และแม้ว่าปัจจุบันเราจะเข้าสู่ยุคสื่อสาร ไร้พรมแดน ผู้คนมีทางเลือกในการรับสื่อมากขึ้น ดังจะได้เห็นทั้งวิทยุชุมชนที่ออกอากาศในท้องถิ่น หรือโทรทัศน์ที่รับชมผ่านจานดาวเทียมเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด แต่ผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณราวกับยาเทวดานี้ไม่เคยหายไปไหน ตรงกันข้าม กลับมีจำนวนมากขึ้นยิ่งกว่าแต่ก่อน และมีกลยุทธ์ในการขายแยบยลชนิดที่ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลยากจะตามทัน วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาทุกท่านเข้าไปยังโลกของ “ผลิตภัณฑ์เทวดา” เหล่า นี้ ว่าพวกเขามีวิธีการอย่างไร ทั้งๆ ที่ถูกจับตามองหรือบางรายก็ถูกกวาดล้าง แต่ก็ยังอยู่รอด และยังมีผู้สั่งซื้อสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดมา
“ความหวัง” ที่ต้องแลกด้วยชีวิต
“มีคนเสียชีวิตจริงๆ จากเรื่องของเอนไซม์ ผมเองก็ดูโฆษณานี้อยู่เหมือนกัน เขาไม่บอกว่ายา หรืออาหารเสริม แต่บอกว่าเป็นเอนไซม์บำบัด หายทุกโรค เบาหวาน ความดัน ญาติพี่น้องผมในหมู่บ้านที่ตายไป ก็ดูโทรทัศน์นี่แหละครับ ปีนั้นแกติดจานดาวเทียมเป็นปีแรก และก็เฝ้าดูทุกคืน เฝ้าดูเพื่อจำเบอร์โทรศัพท์ไปสั่งซื้อเอนไซม์ ก็ใช้เวลาหลายคืนพอสมควร พอแกได้เบอร์ครบ ก็โทรไปที่บริษัท บริษัทก็ถามว่าป้าอยู่ไหน ป้าแกบอกว่าอยู่ลพบุรี บริษัทก็ให้ไปซื้อที่ศูนย์ในลพบุรี ป้าแกก็บอกลูกสาวให้ไปซื้อ
ก็ซื้อมา 1 กล่อง มี 30 ซอง ราคา 3 พันบาท เฉลี่ยซองละ 100 บาท กินไปแล้ว อาการเหนื่อยง่ายที่เคยเป็นก็ไม่เป็น แกก็เลยสั่งซื้อมาอีกหลังจากที่กล่องแรกหมด ระหว่างที่แกรอ แกก็ล้ม หมดสติ ลูกหลานพาไปส่งโรงพยาบาล อยู่ประมาณ 1 เดือน ก็เสียชีวิต จากที่ถามคนใกล้ชิด ก็ได้รับทราบข้อมูลว่าแกไม่ได้กินยาของโรงพยาบาล แกเชื่อจริงๆ ว่าเอนไซม์นี้ทำให้แกหายได้” เป็นคำบอกเล่าของ นายพนะพัฒน์ พงษ์อัมรัตน์ ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ตรง ที่เห็นคนใกล้ชิดต้องเสียชีวิตไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ดังกล่าวมาแล้ว
ซึ่งเมื่อคุณพนะพัฒน์ ไปดูที่ซองเอนไซม์ดังกล่าว พบว่าสรรพคุณที่ระบุบนซองนั้น ไม่ตรงกับที่ได้โฆษณาผ่านช่องดาวเทียม และไม่ได้มีเพียงแค่ผลิตภัณฑ์นี้เพียงผลิตภัณฑ์เดียวเท่านั้น หากใครที่บ้านติดจานดาวเทียม จะพบโฆษณาประเภทนี้แทบจะทุกช่อง และแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงเสียด้วยซ้ำไปที่กล่าวถึงผลิตภัณฑ์รักษาทุกโรคดังกล่าว
สารพัดกลยุทธ์โฆษณา
ในวงการนักโฆษณา หรือนักการตลาด มักจะยึดถือทฤษฎีของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” (Adolf Hitler) ที่กล่าวว่า “หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ” จนกลายมาเป็นคำว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) ที่คอการเมืองคุ้นเคยเป็นอย่างดี แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงการเมืองเท่านั้น แต่เราสามารถพบกระบวนการดังกล่าวได้ในโฆษณาแทบทุกชิ้น และที่เห็นชัดที่สุด คือโฆษณาผลิตภัณฑ์สรรพคุณครอบจักรวาลที่ปรากฏบนโทรทัศน์ช่องดาวเทียม ไม่เว้นแม้กระทั่งช่องการเมืองทุกสี ทุกค่าย ก็มีผลิตภัณฑ์จำพวกนี้ปรากฏอยู่เช่นกัน
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท ตั้ง ข้อสังเกตว่าผู้สูงอายุมักจะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ดังจะเห็นได้จากแทบทุกบ้าน ที่มักจะติดจานดาวเทียมให้พ่อแม่ หรือผู้สูงอายุไว้ดูแก้เหงายามที่ลูกหลานไปทำงาน ซึ่งในหลายกรณีพบว่า แม้ลูกหลานจะรู้ดีว่าของเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องจำใจซื้อให้พ่อแม่ เพราะคำว่า...กตัญญู
“คนเราเวลาฟังโฆษณาบ่อยๆ ฟังซ้ำๆ พฤติกรรมมันจะเปลี่ยน คือของพวกนี้กินแล้วไม่ตายคาปาก แต่เขาเชื่อจนละเว้นการดูแลตัวเองตามที่ควรจะดูแล ผมทำเรื่องนี้ทีไรบางทีก็น้ำตาซึมนะครับ คือเข้าใจหัวอกคนเป็นลูก หลายครั้งเราไปจัดเวทีตามภูมิภาค ไปฟังผู้บริโภค พบว่ามันไม่ใช่แค่ของผิดกฏหมาย มันไม่ใช่แค่หลอกลวง แต่มันมากกว่านั้น คือลูกรู้ว่านี่มันไม่ถูกต้อง แต่พ่อแม่บอก..นี่มันแค่สองพันเอง ซื้อให้พ่อแม่กินไม่ได้หรือ คือมันเป็นเรื่องของความกตัญญูไปแล้ว คือพ่อแม่ขอร้อง แต่ไม่รู้หรอกว่าถ้าบริโภคไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถึงขนาดมีคนบอกเลยว่า...ถ้ารักพ่อแม่ อย่าติดจานให้พ่อแม่ดูระหว่างที่ไม่อยู่บ้าน” ภก.ภาณุโชติ กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น ประธานชมรมเภสัชชนบท ยังกล่าวถึงกลยุทธ์อื่นๆ ที่คนกลุ่มนี้ใช้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ เช่นการใช้บุคคลผู้ดูแล้วมีความรู้ มีชื่อเสียง เช่นนักวิชาการ ทนายความ หรือแม้แต่ดารา นายแบบนางแบบมาเป็นสื่อโฆษณา เพื่อให้ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีค่านิยม “เชื่อเพราะเขามีชื่อเสียง” อยู่แล้ว ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าทันที, การอ้างเครื่องหมาย อย. ว่าเท่ากับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้ว อย. ที่ให้ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่การประดิษฐ์คำใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย เช่นสร้างคำว่า “เอนไซม์บำบัด” มาแทนคำว่ารักษา หรือใช้คำว่า “เป๊ะ” แทนคำว่าสวย เพื่อให้การฟ้องร้องทำได้ยากขึ้นเพราะไม่ตรงกับนิยามที่ระบุไว้ในตัวบทกฏหมาย
นอกจากนี้แล้ว แหล่งข่าวรายหนึ่งยังเสริมว่า ในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมชนบทมองว่าการขึ้นโรงขึ้นศาลมีคดีความ ถือเป็นลางไม่ดี หรือบางครั้ง การที่ต้องเห็นของที่ทำให้คนที่ตนรักเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ทำใจไม่ได้ ทำให้นำไปทำลายทิ้ง ซึ่งก็เท่ากับว่าทำลายหลักฐานที่จะนำไปสู่การเอาผิดตัวการนั่นเอง โดยแหล่งข่าวดังกล่าวยกตัวอย่างชาวบ้านรายหนึ่ง เอาซองอาหารเสริมที่ญาติของตนกินแล้วเสียชีวิตไปเผาทิ้ง เพราะไม่อยากเห็นมันอีก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผลิตภัณฑ์ลวงโลกทั้งหลาย ไม่เคยตายไปจากสังคมไทยแม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม
“ข้อควรจำ” เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
ปัจจุบันแม้จะมีกฏหมายที่ควบคุมผลิตภัณฑ์ เหล่านี้ แต่กฏหมายนั้นก็มีขั้นตอนหลายประการที่ล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ เช่นการสั่งให้ระงับการโฆษณา กว่าประกาศจะออก ก็ใช้เวลาหลายวัน ซึ่งในช่วงนั้นอาจมีคนตัดสินใจเสียเงินซื้อไปแล้วหลายรายก็เป็นได้ รวมถึงค่าปรับที่แสนจะน้อยนิดเมื่อเทียบกับรายได้มหาศาล ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่า เม็ดเงินที่ใช้โฆษณาในธุรกิจดังกล่าว สูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาททีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ภก.ภาณุโชติ จึงให้คำแนะนำในการสังเกตและเฝ้าระวังสินค้าอวดอ้างสรรพคุณดังกล่าวด้วยการยึด “4 หลักต้องจำ” ดัง นี้ 1.เลขที่อนุญาตโฆษณา โดยแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีอักษรย่อไม่เหมือนกัน เช่นอาหารคือ ฆอ. , ยาคือ ฆท. , เครื่องมือแพทย์คือ ฆพ. ยกเว้นเครื่องสำอางที่ไม่มีอักษรเฉพาะ เนื่องจาก พรบ.เครื่องสำอาง 2535 ออกมาในยุคที่ไทยเริ่มเปิดการค้าเสรี กฏหมายฉบับดังกล่าวจึงอนุญาตให้โฆษณาไปก่อนเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อบรรยากาศ การค้าและการลงทุน แต่ถ้าผู้ใดใช้ผลิตภัณฑ์แล้วได้รับความเสียหายหรือรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ค่อยไปแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อดำเนินคดีทีหลัง
2. เนื้อหาการโฆษณาตรงกับที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เช่นเมื่อจดทะเบียนเป็นอาหาร นิยามของอาหารคือกินเพื่อดำรงชีพ ไม่ใช่รักษาโรค ดังนั้นหากโฆษณาใดบอกว่าเป็นอาหาร แต่กลับโฆษณาว่ารักษาโรคนั้นโรคนี้ได้ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง
3.สรรพคุณเกินจริงไหม ซึ่งมักจะพบบ่อยกับเครื่องสำอางที่ใช้คนหน้าตาดีอยู่แล้วมาโฆษณา หรือยาสมุนไพรที่จดทะเบียนเป็นยาจริง แต่เวลาไปขาย ก็มักจะโฆษณาต่อเติมสรรพคุณว่ารักษาได้สารพัดโรคเกินกว่าที่ทำได้จริง และ
4.หากพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ไม่มั่นใจว่ามีคุณภาพ หรือเข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่ ให้แจ้งไปที่ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบต่อไป
“ของพวกนี้มันไปขึ้นทะเบียนเป็นยาไม่ได้ ก็ไปขึ้นเป็นอย่างอื่น แต่พอไปขาย ก็ไปอ้างผลวิจัยโน่นนี่นั่น ว่าสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งถ้ามันดีจริง อย.เขาก็ให้ขึ้นเป็นยารักษาโรค อย่างจังหวัดที่ผมทำงานอยู่ เวลามีคนมาขายของพวกนี้ ผมบอกไปตามมาเลย เตรียมเอกสารมาให้ดีแล้วไปยื่นที่เภสัช บอกให้บรรจุเป็นยาประจำโรงพยาบาล ก็ไม่มีใครทำได้ ชอบโฆษณากันนักว่าคนโน้นคนนี้กินแล้วหาย ผมเคยท้าคนที่มาขายนะ บอกถ้ามันดีจริง จดชื่อมา เดี๋ยวพอพ่อแม่คุณป่วย จะให้กินของที่คุณขายนั่นละ มันก็ไม่กล้า” ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบันสภาพสังคมไทยเปลี่ยนไปหลายประการ ทั้งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และร่างกายคนสมัยนี้ที่อ่อนแอลงเพราะส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในเมือง ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ประกอบกับมลภาวะเป็นพิษ หรือภาวะเร่งรีบแข่งขันที่หลายคนอยากได้ “ตัวช่วย” มาเสริมสมรรถนะร่างกายตนเองให้สมบูรณ์แบบกว่าผู้อื่น และเมื่อรวมกับสังคมข้อมูลข่าวสารฉับไวแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเอื้ออำนวยต่อการหลงเชื่อโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์ อันตรายเหล่านี้ทั้งสิ้น ขณะที่การเอาผิดผู้ผลิตหรือผู้ขายก็ทำได้ยากเพราะมีกลวิธีในการหลบเลี่ยงการ ถูกดำเนินคดีอยู่เสมอ
จึงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคเองเท่านั้น...ที่จะต้องใช้วิจารณญาณให้รอบคอบ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า