ยาหมดอายุ...โปรดดูก่อนใช้

ยาหมดอายุ...โปรดดูก่อนใช้

"ยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์" แม้ จะเห็นด้วยกับภาษิตที่ว่า การประหยัดเป็นคุณสมบัติที่ดีของคนไทย ฯลฯ แต่มีบางเรื่องที่การประหยัดกลับไม่คุ้มค่า ถึงขนาดอาจต้องแลกด้วยชีวิต!
โดยเฉพาะบรรดายาเก่าเก็บ หรือยาหมดอายุ ขืนยังไม่รีบทิ้ง ไม่ใช่เพียงประสิทธิภาพของยาจะลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป แต่มันอาจกลายเป็นอันตรายได้อย่างไม่คาดคิดแม้แต่ยาที่แพทย์สั่ง ก็ควรกินตามคำแนะนำของแพทย์ครับ นั่นคือห้ามกินเกินกว่าวันที่และไม่ต้องเก็บสะสมไว้หรอกครับ ที่เหลือให้ทิ้งได้เลย

ในบรรดายาทั้งหลายนั้น โดยมากจะระบุทั้งวันที่ผลิต และวันหมดอายุไว้บนฉลากหรือซองยาอย่างชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นภาษาอังกฤษ โดยวันที่ผลิตจะเขียนว่า "Manu. Date" หรือ "Mfg. Date" ตามด้วยวัน-เดือน-ปี ของวันผลิต

ส่วนวันหมดอายุ จะเขียนว่า "Expiry Date" หรือ "Exp. Date" หรือ "Used before" หรือ Expiring หรือ Use by ตามด้วยวัน-เดือน-ปี ของวันหมดอายุ ตัวอย่างเช่น Exp.date 30/07/11 หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันที่ 30 เดือนกรกฎาคม ปี 2011


หากมีการระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ โดยทั่ว ๆ เราถือว่า ถ้าเป็นยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต หากเปิดใช้แล้วขึ้นกับว่าดูแลการปนเปื้อนได้ดีหรือไม่ เช่น ยาแก้ไอ แต่ใช้ปากจิบจากขวดยา (ห้ามทำนะครับ เพราะจะไม่รู้ขนาดที่กินเข้าไปชัดเจน) ก็จะปนเปื้อนและเสียได้ในเวลาสองสามวัน หากเทใส่ช้อนกิน ไม่ปนเปื้อน ปิดฝาอย่างดี เก็บไว้ในตู้เย็นสัก 3 เดือนก็เคลียร์ทิ้งกันสักรอบก็จะดีครับ ส่วนยาเม็ดเก็บไว้รักษาได้ 5 ปี นับจากวันผลิตครับ

ยาหมดอายุแล้วให้ทิ้งไปได้เลย ไม่ต้องเก็บสะสมไว้หรอกครับ เพราะยาที่หมดอายุนั้นไม่เพียงกินแล้วไม่ได้ผลในการรักษา แต่อาจเกิดภัยตามมาอย่างคาดไม่ถึง เช่น ยาหมดอายุบางตัวทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง จนอาจกลายเป็นโรคกระเพาะ หรือแทนที่จะระงับโรคกลับทำให้โรคลุกลาม ตัวยาบางชนิดเมื่อเสื่อมอาจก่อโทษภัยแก่ร่างกาย ถึงกับทำให้ไตวายและไตอักเสบได้ครับ

ดูอย่างไร จึงรู้ว่า...ยาเสี่อม

1. ยาเม็ดแคปซูล แคปซูลมักจะบวมโป่ง ภายในแคปซูลจะสังเกตเห็นว่าผงยาเปลี่ยนสี อาจมีเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูล จับกันเป็นก้อน แถมมีสีที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องระวังให้มากครับ เพราะยาหมดอายุบางอย่างหากกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อไต เช่น ยาเตตราซัยคลิน ถ้าผงยาเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ให้ทิ้งทันที เพราะนั่นหมายถึงมันได้เสื่อมสภาพแล้ว

2. ยาเม็ด เมื่อหมดอายุก็มักมีสีเปลี่ยนไป ซีดจางลง แตกกร่อน เป็นผงง่าย เอามือจับรู้สึกเม็ดยานิ่ม ๆ บีบเบา ๆ ก็แตกแล้ว

3. ยาเม็ดที่เป็นแบบเคลือบน้ำตาล (เช่น วิตามินรวม) เม็ดยามักดูเยิ้มเหนียว มีกลิ่นหืน ๆ บูด ๆ

4. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคล้ายแป้งน้ำใช้ทาแก้คัน ยาลดกรด ถ้าเสื่อมก็จะตกตะกอน จับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่ายังไงก็ไม่กระจายตัว ทั้ง กลิ่น สี หรือรสก็เปลี่ยนไปจากเดิม

แต่ยาแก้อักเสบบางชนิดที่เป็นผงต้องเติมน้ำและเขย่าก่อนกินนั้น หากเติมน้ำเข้าไปในขวดเลยบางครั้งก็เขย่ายากมาก ไม่ยอมละลาย ก่อนเติมน้ำต้องเขย่าขวดให้ผงยากระจาย ไม่เกาะติดก้นขวดก่อนเติมน้ำ และเขย่าอีกครั้ง อย่างนี้ไม่ใช่เสียนะครับ แต่เขย่าผิดวิธี

 

5. ยาน้ำเชื่อม จะกลายเป็นสีขุ่น ๆ ตกตะกอน เห็นเป็นผง ๆ ไม่ละลาย หรือเห็นเป็นน้ำคนละสีลอยปะปนเป็นเส้น ๆ อยู่ และอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว

6. ยาขี้ผึ้งและครีม ถ้าเสื่อมก็จะพบว่าเนื้อยาแข็ง เนื้อยาแห้งแข็ง หรือสีเปลี่ยนไปจากเดิม

7. ยาหยอดตา หลาย ๆ ท่านอาจไม่ทราบว่ายาหยอดตามีอายุจำกัดนะครับ จึงนำมาหยอดตาทั้ง ๆ ที่เก่าเก็บเป็นปี หรือบางครั้งหลอดเล็ก ๆ ตัวหนังสือเล็ก ๆ วันเดือนปีเลือนหายไป การหยอดใกล้ตาอาจเกิดการปนเปื้อนจากขี้ตา หรือจากมือผู้ใช้ได้ง่าย ทางที่ดีอย่าเก็บนานครับ สัก 1 เดือนในตู้เย็น หากไม่ได้ใช้ก็เคลียร์ทิ้งได้แล้วครับ

8. ยาบางอย่างที่ต้องเก็บในตู้เย็น มียาบางอย่างเท่านั้นที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อกันการเสื่อม เช่น ยาพวกวัคซีนที่ใช้ฉีด พบเห็นคลินิกไหน เอาวัคซีนมาจากตู้ยามาฉีดโดยไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็น ก็ต้องทักท้วงและทวงถามกันหน่อยครับ

9. ยาเม็ดมากมายที่ใส่แผง (กระดาษฟรอยด์) ซึ่งกันทั้งความชื้นและกันการเสื่อมสภาพเร็ว จึงควรจะแกะยาต่อเมื่อถึงเวลาต้องกินแล้วเท่านั้น หากแกะออกมารวม ๆ กันในขวดอาจเสื่อม หมดอายุก่อนวันเวลากำหนด

10. ยาที่ได้จากโรงพยาบาลใส่ถุงซิปมาให้ ไม่ มีวันหมดอายุ ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ 5 ปีนะครับ แต่วันหมดอายุอยู่ที่กระป๋องยา โรงพยาบาล คลินิกมักจะไม่ได้เขียนไว้ในซองยาให้ ดังนั้น หากเป็นยาเม็ดที่เหลือค้างไว้ที่บ้าน อย่าเก็บไว้เกิน 1 ปีเลยครับ หากเป็นยาน้ำที่ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ สัก 3 เดือนก็เคลียร์กันสักครั้งจะดีกว่าครับ

าหารกระป๋อง นม หมดอายุ

นอกจากยาแล้ว อาหารหลายอย่างโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป นม มักมีอายุการเก็บ รวมทั้งวิธีการเก็บที่ถูกต้อง หากเก็บผิดวิธีอาจเสียก่อนหมดอายุ
หากกินอาหารหรือนมที่เสียแล้วหรือหมดอายุแล้ว อาจก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ โดยมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียในอาหาร นม รวมทั้งสภาพทางชีวเคมีของอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป

การปฐมพยาบาล เมื่อกินยา หรือกินอาหารหมดอายุ


อย่าตกใจเกินเหตุนะครับ หากกินยาหมดอายุไม่ต้องล้วงคอ ไม่ต้องดื่มนม แต่อาจดื่มน้ำตามไปก่อนครับ และเก็บฉลากให้รู้ชนิดยาที่กิน จำนวนที่กินเข้าไป สังเกตลักษณะที่ผิดปกติ เช่น สีที่เปลี่ยน กลิ่นที่ผิดปกติ และโทรถามศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี หมายเลข 0 2201 1083 ซึ่งศูนย์พิษนี้จะเปิด 24 ชั่วโมง มีนักเภสัชวิทยาคอยให้คำแนะนำ บอกวิธีการปฐมพยาบาล และความจำเป็นที่จะต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือไม่

โดย: รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี