ปัจจุบันจำนวนคนที่มีปัญหาสายตาได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องใช้สายตามากขึ้น จึงทำให้ปัญหาสายตาสั้นเทียมเพิ่มมากขึ้นด้วย บางคนอาจจะสงสัยว่าสายตาสั้นเทียมคืออะไร ต่างกับสายตาสั้นแท้อย่างไร แล้วเกี่ยวข้องกับการใช้สายตาอย่างไร
สายตาสั้นเทียม คือ ภาวะสายตาสั้นที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่ทำหน้าทีควบคุมการปรับกำลังสายตาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่สามารถคลายตัวกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สายตาสั้นที่เกิดจากการเพ่ง หรือการมองใกล้ๆ เช่นอ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆนั่นเอง สายตาสั้นเทียมนั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเทียม เพราะฉะนั่นจึงสามารถหายเป็นปกติได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อตา(จะขอพูดในขั้น ตอนการแก้ไข) หรือใช้แว่นสายตาช่วยในการอ่านหนังสือในกรณีที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้เป็น เวลานานๆ แต่สายตาสั้นเทียมก็สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นสายตาสั้นแท้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าคนที่เป็นสายตาสั้นเทียมจะเปลี่ยนเป็นสายตา สั้นแท้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในชีวิตประจำวันเราจำเป็นที่จะต้องอ่านและเขียนมากขึ้น รวมถึงการขาดความเข้าใจของทั้งคนไข้และผู้ให้บริการ ทำให้ได้รับการแก้ไขที่ไม่ถูกวิธี
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสายตาสั้นเทียม ในระยะเริ่มแรกนั้นให้ลองสังเกตด้วยตนเองว่าหลังจากที่อ่านหนังสือหรือใช้ คอมพิวเตอร์ประมาณ 1-2 ชม. พอ เงยหน้าขึ้นมามองไกลแล้วมีอาการมัวหรือไม่ ถ้ามีอาการมัว ให้รอดูว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพักแล้วจะกลับมาเห็นได้ชัดเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่าคุณเริ่มที่จะเป็นสายตาสั้นเทียม สายตาสั้นเทียมนั้นเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ยิ่งในวัยเด็กนั้นจะมีผลอย่างมากเนื่องจากพัฒนาการของร่างกายยังไม่สมบูรณ์ ทำให้มีโอกาสที่สายตาสั้นเทียมกลายเป็นสายตาสั้นแท้ได้สูงมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันการแข่งขันด้านการเรียนมีมากขึ้น รวมถึงเกมส์คอมพิวเตอร์ที่มีออกมามากมาย ทำให้เด็กรุ่นใหม่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้มากขึ้น อีกทั้งยังต้องใช้สายตาเป็นเวลานานๆ ทำให้ปัญหาเด็กเป็นสายตาสั้นเทียมสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
การแก้ไข
การแก้ไขปัญหาสายตาสั้นเทียมนั้นทำได้ง่ายๆ โดยการฝึกกล้ามเนื้อตาให้มีความแข็งแรงมากขึ้นเพียงแต่ต้องใช้ความขยันในการ ทำ เนื่องจากจะต้องทำเป็นประจำ และสม่ำเสมอ ถึงจะได้ผลที่น่าพอใจ
จะมีวิธีการฝึก 2 อย่างที่ให้ทำควบคู่กับไป
- สร้าง ความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อในการเพ่ง โดยการ ให้เรายืดแขนให้ตึง แล้วชูนิ้วชี้ขึ้นมา(หรืออาจจะใช้ปลายปากกาก็ได้) จากนั้นให้มองตรงไปที่ปลายนิ้ว แล้วค่อยๆขยับมือเข้ามาเรื่อยๆ โดยที่ตายังจ้องอยู่ที่ปลายนิ้วตลอดเวลา จนกระทั่งรู้สึกว่าปลายนิ้วเริ่มไม่ชัด ให้หยุดมือแล้วพยายามเพ่งอีกซัก 3-5 วินาที แล้วค่อยๆขยับมือออกจนสุดแขน แล้วทำซ้ำเรื่อยๆ ให้ทำแบบนี้ทุกวันวันละ 5 นาที
- เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อในการคลายตัว วิธีนี้จะต้องมีอุปกรณ์ช่วยเล็กน้อย นั่นก็คือ กระดาษที่พิมพ์ตัวอักษรเหมือนกัน 2 ชุด โดยที่ ชุดแรกให้พิมพ์ตัวขนาดประมาณ 14-16 (ใช้ แบบตัวอักษรปกติ) ชุดที่ 2 ให้ใช้ตัวขนาดประมาณ 36-48 (ขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองเห็นของแต่ละคน) แล้วให้นำชุดที่ 2 ไปวางไว้ที่ระยะห่าง 3 เมตร โดยที่ชุดแรกให้ถือไว้ในมือ ห่างจากดวงตาประมาณ 40 cm. แล้วเริ่มจากให้มองตัวอักษรตัวแรกในกระดาษที่อยู่ในมือ เมื่อเราเห็นตัวอักษรชัด ให้เปลี่ยนไปมองตัวอักษรตัวแรกที่อยู่ในกระดาษชุดที่ 2 ที่ระยะ 3 เมตร เมื่อเห็นตัวอักษรชัดก็ให้กลับมามองตัวอักษรที่อยู่ในมือตัวต่อไป โดยให้ทำแบบนี้สลับกันไปเรื่อยๆ วันละ 5 นาที
หมายเหตุ ควรจะทำก่อนนอน เนื่องจากการบริหารกล้ามเนื้อตานั้นอาจจะทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ จึงแนะนำให้ทำก่อนนอน เพื่อที่พอทำเสร็จแล้วจะได้พักผ่อนทันที
สุดท้ายการใช้แว่นช่วยในการอ่านระยะใกล้ ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ในกรณีที่เราต้องอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็จะช่วยลดการเกิดสายตาสั้นเทียมได้เป็นอย่างดี แต่จะต้องได้รับการตรวจและคำนวณค่าสายตาที่จะให้โดยผู้เชี่ยวชาญ