กระชายดำ (โสมไทย, โสมกระชายดำ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia parviflora Wallich. ex Baker. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ K. rubromarginata (S.Q. Tong) R.J. Searle และ Stahlianthus rubromarginatus S.Q. Tongl.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
สมุนไพรกระชายดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขิงทราย (มหาสารคาม), กะแอน ระแอน ว่านกั้นบัง ว่านกำบัง ว่านกำบังภัย ว่านจังงัง ว่านพญานกยูง (ภาคเหนือ)
ต้นกระชายดำ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้หนาแน่นในแถบมาเลเซีย สุมาตรา เกาะบอร์เนียว อินโดจีน และในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และพม่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีการปลูกกระชายดำมากในจังหวัดเลย ตาก กาญจนบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือ
กระชายดำเป็นพืชที่ชอบที่ร่ม ดินร่วนซุยหรือเป็นดินปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศหนาวเย็น และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแบ่งเหง้า สามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าต้องการให้หัวหรือเหง้ามีคุณภาพต้องปลูกและเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล คือปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระชายดำ
» ว่านกระชายดำสารสกัดกระชายดำด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศของหนูเพศผู้และสุนัข และยังมีผลช่วยเพิ่มความหนาแน่นของอสุจิ และเพิ่มระดับ Testosterone แต่ไม่ทำให้พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนไป นอกจากนี้หนูขาวที่ได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูงในขนาด 1,000 มก./กก./วัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยป้องกันภาวะผสมไข่ไม่ติดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสารสกัดดังกล่าวยังส่งผลทำให้ตับโตขึ้นด้วย
» มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ( สาร 5,7-DMF ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดํา) ต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ในการยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาว และมีฤทธิ์ลดไข้
» มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย (สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone และ 5,7,3’,4’ -tetramethoxyflavone) และมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน (สาร 3,5,7,4’-tetramethoxyflavone และ 5,7,4’-trimethoxyflavone)
» กระชายดำมีฤทธิ์ในการช่วยยับยั้งเชื้อ S. aureus และ B. subtilis สารสกัดด้วยเอทานอลจากกระชายดำมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ ลดการหดเกร็งของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูขาว และยังช่วยยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดในคน
» จากการศึกษาทางพิษวิทยาในหนูทดลองเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในขนาดตั้งแต่ 20-2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าหนูที่ได้รับกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม และหนูที่ได้รับกระชายดำในขนาด 2,000 มก./กก./วัน มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุม มีเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ สำหรับหนูเพศเมียจะมีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่ากลุ่มควบคุม และทุกกลุ่มไม่พบว่ามีความเป็นพิษเมื่อตรวจอวัยวะภายในด้วยวิธีทางจุลพยาธิวิทยา
ประโยชน์ของกระชายดำ
ประโยชน์กระชายดำ ในปัจจุบันนอกจากเราจะใช้กระชายดำเพื่อเป็นยาสมุนไพรทั้งแบบหัวสดและแบบแห้ง ยังมีการนำไปบดเป็นผงบรรจุซองไว้ชงกับน้ำร้อนเพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ “น้ำกระชายดำ” และยังนำมาทำเป็น “ลูกอมกระชายดำ” แต่ที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันก็คือการนำมาทำเป็น “ไวน์กระชายดำ” หรือนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพร “กระชายดําแคปซูล” (แคปซูลกระชายดํา), “กระชายดําผง“, “ยาน้ำกระชายดำ” หรือแปรรูปเป็น “กาแฟกระชายดํา“
สรรพคุณกระชายดำ
» ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารอันเนื่องมาจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา (เหง้า)
» ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา แก้ปัสสาวะพิการ (เหง้า)
» ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เหง้า)
» ช่วยขับประจำเดือน แก้อาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี (เหง้า)
» เหง้าใช้โขลกผสมกับเหล้าขาวคั้นเป็นน้ำดื่ม ช่วยแก้โรคมดลูกพิการ มดลูกหย่อนได้ (เหง้า)
» ช่วยแก้ฝีอักเสบ (เหง้า)
» ช่วยรักษากลากเกลื้อน (เหง้า)
» ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ และมีอาการเหนื่อยล้า (เหง้า)
» ช่วยรักษาโรคปวดข้อ (เหง้า)
» ช่วยรักษาโรคเกาต์ (เหง้า)
» ช่วยแก้อาการเหน็บชา (เหง้า)
» กระชายดำช่วยขับพิษต่าง ๆ ในร่างกาย (เหง้า)
» ช่วยรักษาอาการมือเท้าเย็น (เหง้า)
» กระชายดำมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนัง (เหง้า)
» เหง้าใช้ต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดบุตรดื่ม จะช่วยขับน้ำนม รักษาอาการตกเลือด และช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (เหง้า)
ข้อควรระวังในการใช้กระชายดำ
» ห้ามใช้กระชายดำในเด็กและในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
» ผลข้างเคียงของกระชายดำ การรับประทานในขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการใจสั่นได้
» การรับประทานเหง้ากระชายดำติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เหงือกร่น
» กระชายดำสามารถรับประทานได้ทั้งหญิงและชายโดยไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ยิ่งสำหรับผู้สูงอายุก็พบว่านิยมใช้กันมานานมากแล้ว
» แม้จะมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองที่ระบุว่ากระชายดำไม่พบว่ามีความเป็นพิษ แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้กระชายดำในคน จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อความปลอดภัย
References
» ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระชายดํา“. [ออนไลน์].
» ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กระชายดำ“. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพรเล่ม 2. [ออนไลน์].
» ว่านและสมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “กระชายดํา“. [ออนไลน์].
» สถาบันการแพทย์แผนไทย. “กระชายดำ“. [ออนไลน์].
» กรมวิชาการเกษตร ระบบข้อมูลทางวิชาการ. “กระชายดํา“. [ออนไลน์].
» ห้องสมุดดิจิทัลเกษตรไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กระชายดำ“. [ออนไลน์].
» รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. » บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2547. “ตอน กระชายดำ“. อ้างอิงใน: เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2543. [ออนไลน์].
» สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). [ออนไลน์].
» ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กระชายดํา“. [ออนไลน์].