โสมเกาหลี (Korean ginseng) เป็นที่เลื่องชื่อในด้านของการเป็นสมุนไพรบำรุงร่างกายและช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
โสมเกาหลี มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนเหนือและประเทศเกาหลี จัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นฉ่ำน้ำ และมีขนาดประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมและตั้งตรง มีรากเก็บอาการลักษณะพองโต แยกเป็นง่าม นิยมเก็บรากมาใช้เป็นยาเมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี โดยมักขึ้นใต้ร่มเงาไม้อื่น ลำต้นจะแห้งไปในช่วงฤดูหนาว
โสมเกาหลี มีรสหวานชุ่ม ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงอวัยวะภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายชุ่มชื่น ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย
- ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ปรับการทำงานของต่อมไร้ท่อต่าง ๆ
- ช่วยแก้อาการหน้ามืดเป็นลม
- ช่วยแก้อาการเหงื่อออกไม่รู้ตัว กระหายน้ำ
- ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร
- ช่วยแก้หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหายใจผิดปกติ
- โสมมีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ โดยออกฤทธิ์คล้ายกับยา digoxin ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ป้องกันภาวะเส้นเลือดอุดตัน
- ใช้รักษาและป้องกันโรคผนังเส้นเลือดแดงใหญ่หนาและแข็ง โดยโสมจะไปช่วยทำให้คอเลสเตอรอลที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดลดน้อยลง
- โสมมีฤทธิ์ต้านการจับตัวกันของเกล็ดเลือด อันเป็นสาเหตุสำคัญของการอุดตันของหลอดเลือด
- โสมมีฤทธิ์สร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่มีเลือดน้อยหรือผู้ที่โลหิตจางและความดันต่ำได้ และยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงในกระดูกได้อีกด้วย
- โสมมีฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ โดยโสมสามารถช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับอันเกิดจากคลอโรฟอร์ม คาร์บอนเตตระคลอไรด์และแอลกอฮอล์ได้
- ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติต่าง ๆ เช่น หย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาการท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ โลหิตจาง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และความเครียด
- ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรืออาการวัยทอง
- ช่วยลดอาการผิวหนังแห้งและเหี่ยวย่น จึงช่วยทำให้ผิวชุ่มชื่นขึ้น
- ช่วยเร่งฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วย ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการฉายรังสี จากการศึกษาพบว่าโสมสามารถช่วยต่อต้านโรคและอันตรายที่เกิดจากรังสีรวมถึงสารพิษต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุว่าโสมมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัส HIV-1, ป้องกันอันตรายจากรังสีแกมมา, กระตุ้นการสร้างอสุจิ, เร่งการเจริญเติบโตของรังไข่และการตกไข่, ช่วยลดการหลั่งกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ
ข้อควรระวังในการใช้โสมเกาหลี
- ผู้ที่มีไข้ตัวร้อนห้ามรับประทานโสม และโสมถูกห้ามใช้ในเด็กทารก เด็กเล็ก และหญิงที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับการนำมาใช้ในกลุ่มคนเหล่านี้ และมีข้อมูลสตรีที่รับประทานโสมในขณะตั้งครรภ์เมื่อคลอดลูกอาจมีขนมาก รวมไปถึงผู้ที่ตับอักเสบ พบเอนไซม์ของตับสูงแล้วหรือตับอักเสบจนตัวเหลือง ตาเหลือง หรือตับ ก็ไม่ควรรับประทานโสม
- ควรระมัดระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
- ยาที่ไม่ควรรับประทานร่วมกับโสม ได้แก่ ยาลดน้ำตาลในเลือด (เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงเกินไป เพราะโสมก็มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้โสม), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เนื่องจากยาทั้งสองอาจมีฤทธิ์เสริมกัน ทำให้มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด), ยากระตุ้นหัวใจ (digoxin), ยาต้านอาการซึมเศร้า (phenelxine) รวมถึงยาแอสไพรินและสุรา
- ห้ามกินโสมพร้อมกับวิตามินซี ภายหลังการรับประทานโสม ฤทธิ์ของโสมจะอยู่ได้นาน 1-2 เดือน ควรรับประทาน 1 เดือน แล้วรออีก 2 เดือน ก่อนเริ่มรับประทานใหม่ แต่ในผู้ป่วยเรื้อรังสามารถรับประทานได้นานกว่านั้น
- โสมแดงอาจมีฤทธิ์กับกาแฟหรือสารที่กระตุ้น
- เพื่อให้ได้ผลสูงสุดในการกินโสม คุณจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง โดยอย่ากินร่วมกัน โดยอาหารอื่นจะต้องกินหลังการกินโสมไปแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง โดยอาหารอื่นนี้ หมายถึง ผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูง ๆ หรือน้ำผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มค้น และห้ามกินวิตามินซีร่วมกับโสม เพราะอาหารหรือสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ จะไปทำลายฤทธิ์ที่ควรจะได้จากโสม
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานโสม โดยอาจมีอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ อาการท้องเดินตอนตื่นนอน กินอาหารไม่ย่อย ประจำเดือนขาด ผิวหนังเป็นผื่นคัน มีอาการบวม เป็นต้น
- การใช้โสมเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย ซึมเศร้า ท้องเดิน เจ็บคัดเต้านม ประจำเดือนขาด ผื่นคัน และมีอาการบวม ส่วนผู้ที่รับประทานโสมเป็นระยะเวลานานและรับประทานในปริมาณมาก อาจเกิดกลุ่มอาการที่ประกอบไปด้วย ความดันโลหิตสูง มีอาการนอนไม่หลับ ท้องร่วง และมีผื่น หรือที่เรียกว่า ginseng abuse syndrome
- โสมเป็นของร้อน มีฤทธิ์อุ่น ทำให้บางคนกินแล้วเกิดอาการหงุดหงิด จึงมีคำแนะนำว่าให้กินโสมร่วมกับใบบัวบกซึ่งเป็นของเย็น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โสมเกาหลี” หน้า 187-188.
-หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “กาแฟ”. หน้า 147-149.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โสมคน”. หน้า 566.
-งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป, โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่. “สมุนไพรน่ารู้ เรื่อง โสม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th. [11 ก.ย. 2014].
-โอเคเนชั่น, โดย BangkokHospital. “โสม… ราชาแห่งสมุนไพร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.oknation.net. [11 ก.ย. 2014].
-www.medthai.com/โสมเกาหลี