ยังไม่จน...อยู่อย่างจน...จะไม่จน

ยังไม่จน...อยู่อย่างจน...จะไม่จน

ยังไม่รวย...อยู่อย่างรวย...จะไม่รวย...ยังไม่จน...อยู่อย่างจน...จะไม่จน...หลาย ท่านอาจเคยได้ยินประโยคนี้มาบ้างแล้ว ใครที่เคยเห็นเคยได้ยินผ่านหูผ่านตามาแล้ว หรือใครยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ลองอ่านซ้ำอีกสักรอบ แล้วมาคิดกันเล่นๆ ค่ะว่า คำกล่าวประโยคนี้ให้อะไรแก่เราบ้าง

สาระสำคัญอย่างแรกที่ส่งออกมา น่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนใจให้เราได้คิดทบทวนเพื่อประมาณฐานะของตนเองว่า เรารวยหรือยัง­ หรือว่า เราจนหรือเปล่า­ เรายังไม่รวย หรือเรายังไม่จน­ หลายคนตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเองไม่ค่อยจะได้ เพราะเวลาในแต่ละวันหมดไปกับการจัดการธุระ การงาน อาชีพ หรือมัวแต่จัดการกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง ลูกค้า บุตรหลาน สามี ภรรยา เพื่อนฝูง พี่น้อง จนไม่เหลือเวลาไว้ดูแลจัดการตัวเอง หากเราได้ลองพิจารณาตัวเองอย่างจริงจังดูสักที เราอาจจะได้คำตอบหลายๆ อย่างที่จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างสุขใจมากขึ้น

เพราะหากเราจัดการตัวเองได้ รู้ฐานะที่แท้จริงของตัวเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น รู้ทันสิ่งต่างๆ รอบตัวเรามากขึ้น การวิ่งวุ่นไปตามสังคม ตามเพื่อน ตามคนอื่น เพื่อ Update ไม่ให้ตก Trend ก็จะเป็นไปอย่างพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ

การตรวจสอบฐานะที่แท้จริงของตัวเองทำ ได้ง่ายๆ โดยการรวบรวมข้อมูลทางการเงินทั้งหมด แล้วแยกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนว่า เรามีข้าวของ สมบัติต่างๆ ประเมินมูลค่าได้เท่าไร แล้วยังเป็นหนี้เป็นสินอยู่อีกเท่าไร

เราจะจนหรือจะรวย ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าทรัพย์สินที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ชุดโฮมเธียเตอร์ เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์เหล่านั้น เมื่อหักกลบลบกับหนี้สินแล้ว ตัวเลขที่ได้ติดลบหรือไม่... คนจำนวนไม่น้อย ประเมินฐานะความรวยจากสิ่งที่มี สิ่งที่เห็น หรือจากสินทรัพย์เพียงด้านเดียว ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะการมีข้าวของเครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ในขณะที่ยังมีภาระหนี้สินรุงรังจากข้าวของเหล่านั้นย่อมไม่ได้แสดงฐานะที่ แท้จริง

เพราะความสบายกายที่ได้จากสิ่งของเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างความสุขใจได้เสมอไป

เมื่อรู้ฐานะที่แท้จริงแล้ว ลองถามตัวเองต่อไปว่า ปัจจุบันเราใช้ชีวิตแบบใด เราอยู่อย่างรวย หรืออยู่อย่างจน­ ใครตอบคำถามนี้ไม่ได้ ให้ลองทำบันทึกการใช้จ่ายของตัวเองดู รับรองรู้ชัดแจ้ง เห็นจริงว่าพฤติกรรมทางการเงินของตัวเองเป็นแบบอยู่อย่างรวย หรืออยู่อย่างจน...บันทึกการใช้จ่ายนี้ทำง่ายๆ เพียงแค่จด จด จด จดตามจริง มีรายได้เท่าไร มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเท่าไร อะไรบ้าง ลองจดดูสักอาทิตย์ สองอาทิตย์ รับรองรู้แน่ๆ ว่าอยู่อย่างจน หรืออยู่อย่างรวย

ปัญหาทางการเงินคงจะไม่เกิด หากเราใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้เสมอ การใช้จ่ายเงินของเรามีกรอบอยู่ที่รายได้ที่หาได้ หลายคนใช้จ่ายเงินได้เยอะ เพราะหาเงินได้เยอะ การเปรียบเทียบการใช้จ่ายของตนเองกับคนอื่น จึงไม่ถูกต้องนักเพราะรายได้ที่ไม่เท่ากัน ไม่เช่นนั้นอาจเข้าทำนอง... เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง... ยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนี้ได้ง่าย เป็นหนี้ได้ทุกที่ เป็นหนี้ได้ทุกอย่าง เพราะสินค้าแทบทุกชนิด รอพร้อมให้เราซื้อเงินผ่อนได้แทบทุกห้างร้าน การขี้ตามช้างจึงทำได้ไม่ยากนัก ยิ่งง่าย...ยิ่งอันตราย

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถประหยัดได้อีกมากมาย ที่หลายคนมองข้าม ไม่เห็นค่าของเงินเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น หลายบ้านติด Cable TV ที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน หรือใช้บริการ package ราคาสูง ที่มีหลายร้อยช่องให้เลือกดูทั้งที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน หากลองปรับเปลี่ยนให้ราคาถูกลงจะประหยัดได้เดือนละหลายร้อยบาท ปีละหลายพันบาท หรือการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านเคาน์เตอร์ที่คอยอำนวยความสะดวกให้เรา แต่มีค่าธรรมเนียม แม้จะเป็นเงินเดือนละไม่กี่สิบบาท แต่หลายๆ รายการรวมกัน ทุกเดือน ทุกเดือน จนเป็นปี รวมๆ กัน เงินจำนวนนี้ รวมแล้วไม่น้อยเลยทีเดียว

หรือแม้กระทั่งกาแฟที่เราซื้อทุกวัน วันละสอง สามแก้ว ลองรวมค่ากาแฟ รายวัน รายเดือน และรายปีดูจะเห็นชัดเจนว่า ค่ากาแฟรวมแล้วเป็นเงินไม่น้อยเลย แล้วพอรวมค่า Cable TV ค่าธรรมเนียมความสะดวกสบาย ค่ากาแฟ ค่าน้ำอัดลม ค่าขนมขบเคี้ยว ค่ารองเท้าคู่ที่ยี่สิบ ค่ากระเป๋าใบที่แปด ค่าใช้จ่ายที่รั่วออกจากกระเป๋าเราเหล่านี้

หากนำไปซื้อทองคำ ไปลงทุน ไปซื้อกองทุนรวมรับรองกลายเป็นเงินก้อนเป็นกอบกำแน่นอน อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า "Latte Effect" หรือผลกระทบจากกาแฟลาเต้ ซี่งที่มีผลต่อความมั่งคั่งของเรา เพราะหากเรามองข้ามเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน... สะสมนานๆ เข้า ... เรื่องเล็กน้อย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเรื้อรังได้เสมอ... เพียงประหยัดวันละนิด เพื่อเงินออมที่งอกงาม...ความมั่นคง ความร่ำรวย ก็จะอยู่กับเราอย่างยั่งยืน

เมื่อเรารู้ว่า เรายังไม่รวย หรือยังไม่จน และเพราะเราเลือกได้ว่าจะอยู่อย่างรวย หรือจะอยู่อย่างจน... การไปให้ถึงเป้าหมายสำคัญที่ว่าจะไม่จน...จึงอยู่ที่เราเป็นผู้กำหนด ซึ่งเป้าหมายที่ดีต้องกำหนดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล เป้าหมายที่เป็นจริงได้ยากจะทำให้เราท้อแท้ เหนื่อยจนอาจหมดกำลังใจได้ อย่างหลายๆ คน ที่ยังยากจนอยู่เพราะไม่รู้จักพอ ต่อให้มีทรัพย์สินเงินทองเป็นพันล้าน หมื่นล้านก็ไม่รวย เพราะไม่เคยพอ

การรู้จักประมาณตนเอง การรู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล จะเป็นภูมิคุ้มกัน ที่นำพาเราไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างสุขใจ...ยังไม่จน...อยู่อย่าง จน...จะไม่จน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ  11 ตุลาคม  2550